แอนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ (ผลิตสื่อ 2565)

    บทความนี้ เป็นการนำเรื่องราวของโครงการพระราชดำริ ซึ่งเกิดขึ้นจากพระปรีชาสามารถในศาสตร์ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เช่น โครงการเกี่ยวกับดิน น้ำ ป่า และวิศวกรรม มาสื่อในรูปแบบของ "อนิเมชั่น"  เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกๆ กลุ่ม สั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ภายใน 3 นาที
 
ติดตาม ได้จากรายการข้างล่างเลยค่ะ   

ราษฎรบนพื้นที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องประสบปัญหาเกี่ยวการเพาะปลูก เนื่องจากดินมีคุณภาพต่ำไม่อุ้มน้ำ แถมยังมีความเค็ม ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล แหล่งน้ำธรรมชาติก็มีไม่มากนัก ท่ามกลางความแห้งแล้งกันดาร ได้มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น นับจากพระบามสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาทดลอง ค้นหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม กับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิต ตามหลักภูมิสังคม

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จประพาสทางภาคเหนือ พระองค์ทอดพระเนตรการปลูกฝิ่น การตัดไม้ทำลายป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอย และ ความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของราษฎรชาวไทยภูเขา จึงมีพระราชดาริให้ริเริ่มโครงการหลวง เพื่อสร้างอาชีพให้กับกลุ่มชาวไร่และชาวเขา ส่งเสริมให้ปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาว ทดแทนการปลูกฝิ่น ไม่ว่าจะเป็นพีช ท้อ บ๊วย และสตอเบอรี่ ที่ให้ราคาสูง อันส่งผลให้ปัญหายาเสพติด ภัยแล้ง และความยากจนของราษฎร ค่อยบรรเทาลง

เมื่อปี 2552 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประทับที่พระราชวังไกลกังวล มีราษฎรนำหัวมันมาถวาย พระองค์ท่านได้ทรงนำหัวมันวางบนตราชั่งโบราณในห้องทรงงาน บนพระตำหนักเปี่ยมสุข ก่อนเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร และเมื่อเสด็จกลับมาพระราชวังไกลกังวล ทรงพบว่าหัวมันที่วางอยู่บนตราชั่งนั้น มีรากและใบอ่อนงอกขึ้นจากหัวมัน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าโครงการที่พระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรกๆ เป็นการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างสถานบริการสาธารณสุข และระยะต่อมาเป็นโครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน โดยในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรแต่ละครั้ง พระองค์ได้โปรดฯให้คณะแพทย์ในขบวนเสด็จ ทำการตรวจรักษาราษฎร และทรงพบว่าราษฎรจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี ๒๕๑๐ ต่อมาโครงการพระราชดำริด้านการแพทย์ จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง

จากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะเห็นประชาชนอยู่ดีมีสุข โดยเฉพาะเกษตรกรรม ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงทำให้เกิด “โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา” ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในปี2504 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา ทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ แล้วนำผลการศึกษามาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างในการนำไปปฏิบัติตาม

มีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา เรื่องทุนทรัพย์อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้ง ถึงเหตุที่ทำให้ราษฎรจำนวนไม่น้อย ยากไร้ ขาดโอกาสเล่าเรียน ไม่มีอาชีพ ไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ทรงให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา และทรงรำลึกถึงวิธีการประสิทธิ์ประสาทวิชาของครูบาอาจารย์ในโบราณกาล เช่นพระดาบส

จากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบถึงปัญหาและความเดือนร้อนของเหล่าพสกนิกรชาวเกษตรกร ที่มีอยู่มากมาย จึงได้พระราชทานแนวคิดทฤษฎีใหม่ เพื่อนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเล็งเห็ทุกข์สุขของประชาชน จึงก่อให้เกิดโครงการสะพานภูมิพล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อคลี่คลายปัญหาจราจร ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมุ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นเส้นทางขนส่งเชื่อมโยงย่านอุตสาหกรรม เพื่อให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่ต้องวิ่งเข้าไปในตัวเมือง ช่วยลดการจราจรติดขัด

“ดิน” เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่งเคียงคู่กับ “น้ำ” ในการทำเกษตร แต่ถ้ามีดินเลว ปราศจากซึ่งธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช ก็เป็นการยากต่อการปลูกพืชได้ จากการทำเกษตรที่ชาวบ้านมีการใช้สารเคมีเป็นระยะเวลานาน และการเผาหน้าดิน เพื่อเป็นการเตรียมหน้าดินสำหรับการเกษตรครั้งต่อไป ยิ่งทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดแร่ธาตุ ขาดน้ำ จนกลายเป็นดินเค็ม ดินเปรี้ยว และ ดินแข็ง

หญ้าแฝก เส้นหญ้าที่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์นั้น กลายมาเป็น หญ้ารักษาแผ่นดิน การชะล้างพังทลายของดิน ถือเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีผลต่อการเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงความสำคัญ และการจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ จึงพระราชทานพระราชดำริ ให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และปรับปรุงสภาพแวดล้อม ให้ดีขึ้น

ย้อนไปเมื่อครั้งอดีต จังหวัดนราธิวาสที่เป็นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 300000 ไร่ มีน้ำขังตลอดปี ถึงแม้จะระบายน้ำออกหมดแล้วก็ตาม ยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้เนื่องจากดินมีสารประกอบ Fes2 (ไพไรต์) ทำให้มีกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ราษฎรในภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ต้องประสบกับความทุกข์ยาก เกษตกรไม่มีพื้นที่ทำกิน เนื่องจากที่ทำกินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่พรุ มีสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถทำการเกษตรใดๆ ได้เลย

ก่อนปี พศ 2528 พื้นที่ตำบลเขาชะงุ้ม เกิดวิกฤติที่ดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก จากการใช้ที่ดินผิดวีธี ทำให้พื้นดินบริเวณนี้เสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ไร้ป่า ไร้การเพาะปลูก  ราษฎรได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดิน จำนวนประมาณ 700 ไร่ โดยหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะสามารถพัฒนาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับที่ดินผืนนี้ไว้ในพระปรมาภิไธย และได้พระราชทานพระราชดำริให้ทดลองด้านการปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรม ก่อเกิดโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเชาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาดิน น้ำ ป่า รวมถึงเกษตรกรรม

ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จ.เพชรบุรี มีฝูงเนื้อทรายอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงเป็นที่มาของ ห้วยทราย นามที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ  แต่แล้วเมื่อผืนป่าถูกบุกรุกเพื่อทำไร่ จึงทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ขาดแหล่งน้ำ ดินเสื่อมคุณภาพ ราษฎรไม่สามารถทำการเกษตรได้อีก

เมื่อครั้งอดีตพื้นทางภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส เคยเป็นป่าพรุ ซึ่งมีน้ำขัง และลึกลงไปใต้น้ำ คือ พื้นดินอินทรีย์ ที่มีซากพืชเน่าเปื่อยทับถมกันเป็นเวลานาน จนเกิดสารไพไรท์ เมื่อสารชนิดนี้สัมผัสกับออกซีเจนในอากาศ จะทำให้เกิดกรดกำมะถันที่เป็นอันตรายต่อพืช ดังนั้นน้ำที่ขังอยู่ในป่าพรุ จึงเป็นเสมือนกำแพงกั้นไม่ให้สารไพไรท์ได้สัมผัสกับออกซีเจนในอากาศ ระบบนิเวศในป่าพรุ จึงสามารถรักษาความสมดุล ตราบใดที่ยังมีน้ำ แต่แล้วเมื่อกาลเวลาผ่านไป น้ำลดดินแห้ง เจ้าสารไพไรท์จึงได้เจอกับออกซีเจน ก่อปฏิกิริยาเคมี จนเกิดกรดกำมะถัน สะสมอยู่ในชั้นดิน ทำให้พื้นที่ทำกินกลายเป็นดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ประมาณการว่าเฉพาะจังหวัดนราธิวาสนั้นมีพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดกว่า 300,000 ไร่เลยทีเดียว

ในอดีตพื้นที่ภาคเหนือซึ่งส่วนมากเป็นภูเขาที่เคยมีป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ ได้ถูกรุกล้ำ ทำลาย จากป่าสมบูรณ์ กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ความแห้งแล้งก่อให้เกิดไฟป่า สัตว์ป่าน้อยใหญ่ ไร้ที่พักพิง ผู้คนในพื้นที่ต้องอยู่กันอย่างแร้นแค้น ยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไข และฟื้นฟูผืนดิน ป่าไม้ และพัฒนาแหล่งต้นน้ำลำธาร

ท่ามกลางความสิ้นหวัง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมายังดินแดนแห่งนี้ และพระราชทานพระราชดำริ ให้สร้างศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา ขึ้น

ในอดีตบริเวณคุ้งน้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ หน้าที่สำคัญของคลองลัดโพธิ์เมื่อครั้งอดีต เคยเป็นเส้นทางสัญจรทางเรือ ใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก รวมทั้งทำหน้าที่ลัดน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทย กว้างเพียง 8-10 เมตร และยาว 600 เมตร แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมืองถูกพัฒนามากยิ่งขึ้น แนวคลองถูกถม เพื่อใช้ก่อสร้าง ทั้งบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม และถนน ขาดการดูแลรักษา คูคลองจึงตื้นเขินเหลือเพียงแค่ 1-2 เมตรเท่านั้น พื้นที่บริเวณนี้จึงถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ทุกปี ในช่วงน้ำหลาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูที่มีน้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2538

ลุ่มน้ำแม่กวงเป็นป่าเสื่อมโทรมพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีการลักลอบตัดไม้ จนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น สภาพดินไม่สามารถปลูกพืชใด ๆ ได้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงว่า พื้นที่ที่ปลูกป่าแล้ว พื้นที่ที่บุกลุก และพื้นที่ที่จัดสรรให้ราษฎรทำกินเป็นการชั่วคราว ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ควรจะได้มีการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร มีความชุ่มชื้น สามารถทำกินได้ และจะไม่ทำการบุกรุกอีกต่อไป รวมทั้งยังสามารถจัดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของราษฎรได้เช่นกัน

เพราะป่าไม้หาย สายน้ำจึงเหือดแห้งไปจากลุ่มน้ำแม่ปิง สาเหตุอันสำคัญที่ทำให้ผู้คนใน 14 หมู่บ้าน ของอำเภอจอมทอง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ต้องตกอยู่ในความทุกข์ทน ด้วยความยากจนและแร้นแค้นแหล่งน้ำ จวบจนกระทั่งปี 2526 ขณะศูนย์บริการการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอก ไม้ผล บ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เข้ามาทดลองปลูกดอกไม้เมืองหนาว ในดินแดนบริเวณนี้ เรื่องราวความทุกข์ยากของราษฎรจึงได้ทราบถึงองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้งโครงการและสร้างอ่างเก็บน้ำสาขาต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำปิง เพื่อกักเก็บน้ำและส่งให้กับราษฎรที่ได้รับความเดือนร้อน ให้พัฒนาจัดสรรเป็นที่ทำกินให้แก่ราษฎร พื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำให้อนุรักษ์เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อได้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาวถูกราษฎรบุกรุก เพื่อใช้เป็นที่ดินทำกิน ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ ถูกทำลาย และลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว จากพื้นที่ลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังอำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย พระองค์ทรงได้เยี่ยมราษฎร และได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสว่า “บริเวณที่ตั้งอยู่ใกล้ป่าต้นน้ำห้วยทอน สมควรที่จะพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรมีน้ำในการเพาะปลูก พัฒนาอาชีพให้มั่นคงและพัฒนาหมู่บ้าน ในรูปหมู่บ้านป่าไม้เพื่อป้องกันไม่ให้ราษฎรเข้าไปบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ”

จากอดีตอันรุ่งโรจน์ ศูนย์กลางผลิตข้าว เมืองท่าแห่งการค้าขายทางทะเล ที่สำคัญสายหนึ่งมาแต่ครั้งโบราณกาล ความหลากหลายทางชีวภาพ และความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เหมาะแก่การปลูกข้าวเป็นอย่างยิ่ง ปากพนังจึงกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการค้าข้าว ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ แต่แล้วความรุ่งโรจน์แห่งเมืองท่า ก็เข้าสู่จุดเปลี่ยนแปลง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 และวาตภัยแฮเรียดแหลมตะลุมพุก ทำลายนาข้าว ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ บ้านเรือน และชีวิตผู้คน เมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ประชากรเพิ่มขึ้น แหล่งทำกินน้อยลง จากการใช้ที่ดินและทรัพยากรในพื้นที่อย่างรีดเค้น บุกรุก ทำลาย ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความล่มสลายในการประกอบอาชีพของราษฎรในพื้นที่ ระบบนิเวศเสียสมดุลอย่างรุนแรง ราษฎรไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยในความเดือนร้อนของราษฎร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงห่วงใยในปัญหาดังกล่าว จึงมีพระราชดำริ ทำโครงการแหลมผักเบี้ย เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 เพื่อจัดการเรื่องการบำบัดน้ำเสีย และขยะ โดยมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ การให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ การใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย และเน้นความประหยัด สามารถปรับใช้ได้กับตามแต่วัสดุในท้องถิ่น

ในอดีต บริเวณอ่าวคุ้งกระเบนจังหวัดจันทบุรี พื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ที่อุดมด้วยทรัพยากรอันมีค่า มีสภาพเสื่อมโทรมจากการทำประมงที่ผิดวิธี การจับสัตว์น้ำที่เกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ ประการสำคัญคือพื้นที่ชายฝั่่งถูกบุกรุกทำลาย ส่งผลให้น้ำทะเลรุกร้ำพื้นที่ราบลุ่มทางการเกษตร จนเกิดปัญหาดินเค็มและผลผลิตได้รับความเสียหาย นำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ บริเวณภูเขาเพื่อปักหลักพื้นที่ทำกินใหม่ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลของจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้มกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น โดยทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตร ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาจากยอดเขา สู่ท้องทะเล” บูรณาการความรู้ทางวิชาการ ควบคู่ไปกับภูมิปัญญาคนในท้องถิ่น

เมื่อปี พศ ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไป 15 จังหวัดของภาคอีสาน ทรงทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ขาดน้ำในการดำรงชีวิตและในการเกษตร ด้วยพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ ทรงสังเกตเห็นบางสิ่ง จนมีพระราชดำรัสว่า... “...เงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”

จากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2538 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งเรื้อรังกว่า 2 เดือน ส่งผลให้น้ำท่วมหนักในเขตกรุงเทพและปริมณฑล สาเหตุมาจากพื้นที่ป่าลดลง ไม่มีพื้นที่ซับน้ำจากภูเขา เมื่อน้ำมาถึงชุมชนเร็วแต่กลับมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำในเขตเมือง ทำให้น้ำระบายสู่ทะเลช้าลง และก็เอ่อท่วมหนัก สร้างความลำบากให้แก่ประชาชน และทำลายเศรษฐกิจประเทศ

ในอดีต บึงมักกะสันเป็นแหล่งน้ำอยู่ในเขตโรงงานรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ขุดขึ้นในปี 2474 เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายน้ำ รองรับน้ำเสียและน้ำมันเครื่องจากโรงงานรถไฟ ประกอบกับรอบบึงมีชุมชนแออัด ซึ่งส่วนใหญ่ได้ปล่อยสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยลงสู่บึงมักกะสัน จนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและน้ำเน่าเสีย

แม่น้ำในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำที่มีสีดำคล้ำและเน่าเสีย แถมในน้ำ ยังมีสารเคมี ที่ถูกปล่อยมาจากโรงงาน และการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ ในช่วงหน้าฝน น้ำที่เน่าเสีย ยังส่งกลิ่นเหม็น รบกวนผู้คนที่อาศัยในระแวกใกล้เคียง ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยราษฎร ในด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำ ให้ก่อตั้งโครงการ น้ำดีไล่น้ำเสีย เพื่อปัญหาน้ำเน่าเสีย ในกรุงเทพมหานคร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้