บทเพลงพระราชนิพนธ์

พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี

เหตุใดศิลปินจากทั่วโลกจึงยกย่องว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี และความน่าทึ่งที่อยู่ในบทเพลงพระราชนิพนธ์

บันทึกการพระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอเมริกันในรายการวิทยุ เสียงอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า ดนตรีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิตใจของมวลมนุษย์

     “...ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่าง ๆ กันไป...”


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นสังคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค เป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี เช่น Johnny Hodges และ Sidney Berchet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญ และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์

เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่ขณะประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อเสด็จฯ นิวัติพระนครใหม่ ๆ นั้นเป็นเพลงในแนว "บลูส์" (Blues) ซึ่งเป็นสไตล์หนึ่งของดนตรีแจ๊ส ที่เริ่มเป็นที่นิยมในสหรัฐตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2443 เสียงโน้ตที่แปร่งหูในแนวบลูส์ และช่วงจังหวะที่ขัดธรรมชาติของเพลงในบางครั้ง ได้สร้างมิติใหม่ให้แก่วงการเพลงในยุคนั้น เพลงบูลส์ที่รำพันถึงความโศกเศร้าและคับแค้นใจจึงแฝงไว้ด้วยคติธรรมของชีวิตจริงอยู่ด้วยเสมอ ดังเช่น บทพระราชนิพนธ์ "ชะตาชีวิต" ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขณะที่เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วในปี พ.ศ. 2489 ทำนองเพลงอันเรียบง่ายที่อาศัยการดำเนินเสียงประสานของคอร์ดบลูส์ จำนวน 12 ห้อง ซึ่งเรียกว่า "Blues Progression" เป็นหลักสำคัญในการพระราชนิพนธ์เพลงประเภทนี้

นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ในช่วงนี้อีก คือ "ดวงใจกับความรัก" และ "อาทิตย์อับแสง" ซึ่งมีลักษณะท่วงทำนองที่ต่างไปจากบลูส์รุ่นแรก ๆ คือ ทรงเปลี่ยนทำนองให้ระดับเสียงมีช่วงกว้างขึ้น และ ทรงพระราชนิพนธ์ให้ทำนองมีลีลาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยใส่คำร้องได้อย่าง "น่ารัก" ทำให้เพลงทั้งสองเพลงนี้มี "ชีวิตชีวา" เพิ่มขึ้น และแตกต่างจากเพลงไทยสากลในยุคเดียวกัน

บทเพลงพระราชนิพนธ์ "สายฝน" เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่ทรงมีจินตนาการสร้างทำนองให้แตกต่างกันหลายประเภทได้อย่างไพเราะไม่ซ้ำแบบผู้ใด และการที่เลือกใช้ลีลาที่สง่างามแต่อ่อนโยนของจังหวะวอลซ์ ทำให้ "สายฝน" ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ลีลาวอลซ์เพลงแรก ติดอันดับเพลงลีลาศยอดนิยมของเมืองไทยในยุคนั้น
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงความลับของเพลงสายฝนดังนี้
     "... เมื่อแต่งเป็นเวลา 6 เดือน หม่อมเจ้าจักรพันธ์ฯ ได้เขียนจดหมายมาถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไปเข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด...ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่ง คือเขียนไป 4 ช่วง แล้วก็ ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกช่วงที่ 2 กลับไป ทำให้เพลงนี้มีลีลาต่างกันไป... เป็น 1 3 2 4 ..."

เพลงพระราชนิพนธ์ลีลาวอลซ์อื่น ๆ คือ "เทวาพาคู่ฝัน" "แก้วตาขวัญใจ" "ลมหนาว" "ค่ำแล้ว" และ "ความฝันอันสูงสุด"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฏีการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นำในด้านการประพันธ์ทำนองเพลงสากลของเมืองไทย โดยใส่คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อน ทำให้เกิดเสียงประสานที่เข้มข้นในดนตรี เมื่อประกอบกับลีลาจังหวะเต้นรำที่หลากหลาย ทำให้บทพระราชนิพนธ์บรรเลงได้อย่างไพเราะ หลายบทกลายเป็นเพลงอมตะของไทยในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังทรงมีจินตนาการสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา เพลงพระราชนิพนธ์ "มหาจุฬาลงกรณ์" ซึ่งเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์บทแรก ที่พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยนั้น แสดงถึงพระปรีชาสามารถ ในจินตนาการสร้างสรรค์นี้

 
ก่อนเสด็จฯ นิวัติพระนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ระบบการประพันธ์แบบสิบสองเสียง (Chromatic Scale) ซึ่งเป็นประเพณีที่นิยมกันทางตะวันตกเพราะถือว่าสามารถสร้างสีสันของเสียงดนตรีได้มากมาย โดยการใส่คอร์ดต่าง ๆ อย่างสลับซับซ้อนและสามารถจำได้ยากจึงทรงเลือกประพันธ์ทำนองเพลงใหม่โดยใช้ระบบห้าเสียง (Pentatonic Scale) ซึ่งเป็นระดับเสียงที่เรียบง่าย และมักจะพบในทำนองเพลงพื้นบ้านเป็นการพิสูจน์ว่า แม้ระบบบันไดเสียงที่เรียบง่ายก็อาจประพันธ์ทำนองให้ไพเราะได้ ทรงเรียบเรียงทำนองเพลงที่จำได้ง่ายแต่มีระเบียบและมีความสมดุลกันเป็นอย่างดี ด้วยระบบบันไดเสียงที่เรียบง่ายและด้วยลีลามาร์ชที่หนักแน่น ดังนี้เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย จึงได้พระราชทานทำนองเพลงนี้ และให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง "มหาจุฬาลงกรณ์" จึงเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่มีท่วงทำนองงามสง่า มีจังหวะหนักแน่น มีความศักดิ์สิทธิ์สมเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของชาติ ซึ่งมีกำเนิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระปิยมหาราช องค์สมเด็จพระอัยยกาธิราชในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 หลังจากที่พระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัยให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเพื่อพระราชทานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาตามลำดับ ดังปรากฏในพระราชดำรัสดังต่อไปนี้

     "...เรื่องเพลงที่แต่งขึ้นใหม่นี้ต้องขอชี้แจงไว้นิด ฟังแล้วอาจจะตกใจ เพราะว่าเพลงที่ประจำมหาวิทยาลัยในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ ก็มีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ของธรรมศาสตร์ที่ได้ให้ทั้งสองเพลงนี้ กับเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ ต้องบอกว่ายาวเท่ากัน ไม่ต้องอิจฉาว่าของเขายาวกว่าหรือสั้นกว่า ยาวเท่ากัน แล้วก็การสร้างเพลงนี้ก็สร้างในแบบเดียวกัน ไม่ต้องต้องอิจฉาอะไร แล้วก็บอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาจจะแก้ไข อย่างไรก็ตามแต่ก็มีอย่างหนึ่งคือ เพลงของจุฬาฯ เขาก็บอกว่าเพลงของเขาเพราะที่สุด ถ้าไปถามชาวธรรมศาสตร์ ว่าเพลงไหนเพราะที่สุด เขาก็บอกว่า เพลงธรรมศาสตร์ แล้วก็ถ้าถามพวกเกษตรน่ากลัวบอกเพลงเกษตรเพราะกว่า ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนะ แต่ว่าเพลงของจุฬาฯ เขาโอ้อวดว่าสง่าผ่าเผยมาก แล้วก็เพราะมาก ถ้าพูดถึงเพลงธรรมศาสตร์เขาก็บอกว่า องอาจดี เดินก็ได้ จุฬาฯ เขาก็ตอบว่า ของเขาก็เดินได้เหมือนกัน เป็นเพลงสำหรับนำแถวได้ เพลงของเกษตรนี้ก็ที่จริงก็ควรจะตัดสินเอาเองว่า เป็นยังไง แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่าเพลงโน้น แต่อ่อนหวาน นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่อาจจะมีความหมายได้ว่า ผลิตผลของทางการเกษตรรวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้ารสหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่า เพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้เปลี่ยนแปลงไปหน่อย ก็อาจจะเป็นเพลงสำหรับแตรวงเดินก็อาจจะพอได้ แต่ขออย่างเดียวอย่าเดินขบวน..."


"ความฝันอันสูงสุด" อาจกล่าวได้ว่าเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ไพเราะยิ่งบทหนึ่ง มีลักษณะพิเศษคือ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์บทแรกที่ทรงแต่งทำนองภายหลังเพื่อใส่ในบทประพันธ์กลอนแปด ทำนองเพลงพระราชนิพนธ์นี้เสริมให้บทกลอนมีคุณค่า และงดงามประทับใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ถึงห้าระดับเสียง การแต่งเพลงไทยจึงเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะจะต้องให้ได้ท่วงทำนองที่ไพเราะและยังรักษาเนื้อหาที่สำคัญของคำร้องในขณะเดียวกัน ถ้าทำนองและเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกัน จะทำให้เสียงเพี้ยนผิดความหมาย ร้องยากและฟังไม่ชัดเจนอีกด้วย การที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองนี้ในระยะหลังขณะที่ทรงมีพระราชกิจมากมายนี้แสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงในกุญแจเสียงซีธรรมชาติ ซึ่งเป็นระดับเสียงพื้นฐาน ทำให้เพลงมีความหนักแน่น ทรงละที่จะใช้เสียงครึ่งตามแนวดนตรีตะวันตกตามที่เคยทรงนิยมปฏิบัติ "ความฝันอันสูงสุด" จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์สำหรับแต่ละวรรคของกลอนทั้งห้าบท ยังเปลี่ยนไป ทำให้แต่ละวรรคมีทำนองที่แตกต่างและไม่ซ้ำกันแม้แต่วรรคเดียว การที่ทรงจินตนาการสร้างทำนองเพลงใหม่ขึ้นได้โดยมิต้องแก้ไขบทประพันธ์เดิมนั้น เป็นเครื่องแสดงถึงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์

"ความฝันอันสูงสุด" เปิดเสียงดนตรีด้วยโน้ตซีสูง เป็นความหวังอันสดใสของเพลงนี้

"ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง"


มูลนิธิหอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญต่อลักษณะพิเศษของเสียงวรรณยุกต์ที่มีในภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงเลือกใช้ตัวโน้ตที่มีเวลาตรงกับพยางค์ของคำร้อง ทั้งยังทรงเน้นโน้ตเสียงเพลงให้เหมาะสมกับเสียงของคำ เช่น คำตาย ทำให้เสียงดนตรีมีความหมายหนักแน่นขึ้นเป็นพิเศษหรือทรงเลือกใช้ ตัวโน้ตให้ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ เช่น เสียงจัตวาที่มีในภาษาไทยอีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกถึงเอกภาพของคำร้องและทำนองได้ไม่รู้ตัว เอกภาพนี้คือศิลปะสำคัญที่เกิดจากจินตนาการและพรสวรรค์ส่วนพระองค์อันยากที่จะหาผู้ใดเทียมได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกใช้ลีลาจังหวะวอลซ์สำหรับเพลงที่มีเนื้อหาปลุกใจประเภทนี้ แต่ผลปรากฏว่าทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบน่ารื่นรมย์ สำหรับผู้ที่มีอุดมคติที่จะบำเพ็ญตน เพื่อสาธารณประโยชน์.. เป็นความฝันอันสูงสุด เสียงเพลงพระราชนิพนธ์บทนี้ย่อมเตือนสติแก่ผู้ร้องได้เป็นอย่างดี ในการใช้ปัญญาเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ ด้วยเนื้อหาและทำนองดังกล่าว เพลงพระราชนิพนธ์บทนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและกลายเป็นเพลง ที่เรียกว่า "เพลงเพื่อชีวิต" ที่สมบูรณ์ยิ่งบทหนึ่ง ในยุคที่มีการตื่นตัวในทางสังคมและการเมืองของประเทศ สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ทำงานพัฒนาออกค่ายอาสาสมัครของมหาวิทยาลัย และข้าราชการทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดนนั้น เสียงร้องของเพลงพระราชนิพนธ์ที่ดังกังวานท่ามกลางความมืดที่เงียบสงบ "ความฝันอันสูงสุด" ย่อมมีความหมายลึกซึ้งและซาบซึ้งใจ

 องค์บรมราชูปถัมภกด้านดนตรี
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นศิลปินผู้เพียบพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะด้านดนตรีแล้ว ยังทรงเป็นองค์บรมราชูปถัมภกทางดนตรีอีกด้วย ทรงส่งเสริมทั้งดนตรีไทยและสากล และมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ศิลปินดนตรีอย่างทั่วหน้า

ทางด้านดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าวิชาดนตรีไทยเป็นศิลปะที่สำคัญของชาติ สมควรที่จะได้รวบรวมเพลงไทยเดิมต่าง ๆ ไว้มิให้เสื่อมสูญและผันแปรไปจากหลักเดิม โดยมีการบันทึกโน้ตเพลงให้ถูกต้องและจัดพิมพ์ขึ้นไว้เป็นหลักฐาน เพราะในการบันทึกแนวเพลงเป็นโน้ตสากลแต่เดิมนั้น ยังมิได้มีการบันทึกไว้อย่างครบถ้วนและจัดพิมพ์ให้เป็นการสมบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรรับเรื่องนี้ไปดำเนินการ ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดพิมพ์โน้ตเพลงไทยชุดนี้ เป็นการรักษาศิลปะดนตรีอันสำคัญของไทยไว้มิให้เสื่อมสูญ และยังเป็นการเผยแพร่วิชาดนตรีของไทยออกไปในหมู่ประชาชนผู้สนใจ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้นยังทรงริเริ่มให้มีการวิจัยเกี่ยวกับดนตรีไทยในด้านบันไดเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทต่าง ๆ เช่น ความแตกต่างระหว่างบันไดเสียงของเครื่องสาย และบันไดเสียงของระนาด ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มให้มีการบรรเลงเพลงไทยที่เรียบเรียงขึ้นจากเพลงสากล โดยโปรดเกล้าฯ ให้ นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนอง "มหาจุฬาลงกรณ์" มาแต่งให้เป็นแนวไทย นายเทวาประสิทธิ์ ได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์นี้มาดัดแปลงเพื่อใช้บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ถึง 2 ครั้ง ภายหลังจึงปรับปรุงเป็นเพลงโหมโรงในการบรรเลงดนตรีไทยของชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากเพลงไทยสากล ตามพระราชดำริในการสร้างสรรค์และส่งเสริมดนตรีไทยและเป็นการแสดงว่าดนตรีไทยสามารถวิวัฒนาการไปตามกาลเวลาอย่างไม่หยุดยั้ง

 ภาษาดนตรี : สัมพันธ์ไมตรีระหว่างชาติ
"Alexandra
Welcome to thee
Here in this land of sunshine and of flowers.
May ye be blessed by the blessing
The has made our country happy"
"Alexandra"


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่าดนตรีเป็นภาษาสากลที่สามารถขจัดอุปสรรคทางภาษา วัย ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพราะภาษาดนตรีสามารถสื่อความหมายให้คนเข้าใจเป็นอย่างเดียวกันได้ ดนตรีจึงเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันแม้ว่าเป็นคนละชาติ คนละภาษา หรือต่างศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อในการเชื่อมความเข้าใจและความสัมพันธ์ทางความรู้สึกที่แน่นแฟ้นลึกซึ้งระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และนักศึกษา โดยที่เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเป็นโอกาสที่จะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับบรรดานิสิตนักศึกษาอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ในระดับชาตินั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบความสำเร็จในการใช้ดนตรีเป็นภาษาสากลเพื่อเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศได้อย่างงดงาม ดังเห็นได้จากการที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2503 ได้เสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ วอชิงตันเพลส ซึ่งรัฐบาลฮาวายจัดถวาย ทางฝ่ายเจ้าภาพเมื่อได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถพิเศษด้านดนตรี จึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ให้ทรงร่วมบรรเลงดนตรีกับวงดนตรีที่จัดมาแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง โดยเตรียมเครื่องดนตรีคลาริเน็ตไว้ถวายให้ทรงเล่นด้วย หลังจากที่ทรงได้รับการ "คะยั้นคะยอหนักขึ้น" จากทั้งเจ้าภาพ นักดนตรี และผู้ร่วมงาน พร้อมกับเสียงปรบมือไม่หยุด จึงทรงรับเชิญขึ้นไปทรงเล่นดนตรีพระราชทาน 2 เพลง แม้ว่าจะมิได้เตรียมพระองค์มาก่อน เหตุการณ์นี้เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ร่วมงานในวันนั้นอย่างยิ่งเพราะชาวอเมริกันชอบ "ความเป็นกันเอง" เช่นนี้มาก และเมื่อเสด็จฯ ต่อไปยังนครนิวยอร์ค ก็ได้เสด็จไปทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของ นายเบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) นักดนตรีฝีมือเยี่ยมระดับโลก


เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนประเทศฟิลิปปินส์ ในปีพุทธศักราช 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ร่วมทรงดนตรีกับสมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงมะนิลา พระปรีชาสามารถในครั้งนั้นสร้างความประทับใจให้กับชาวฟิลิปปินส์ เป็นการช่วยกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 
กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของนักดนตรีที่สำคัญ และคีตกวีเอกของโลก ได้ยกย่องพระปรีชาสามารถด้านการดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะ คือ เมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนประเทศสาธารณรัฐออสเตรียอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 วงดุริยางค์ซิมโฟนี ออเคสตร้า ควบคุมโดย ไฮน์ วัลลเบอร์ก แห่งกรุงเวียนนาได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ ชุด "มโนราห์" "สายฝน" "ยามเย็น" "มาร์ชราชนาวิกโยธิน" และ "มาร์ชราชวัลลภ" ไปบรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2507 พร้อมกันนี้สถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ส่งกระจายเสียงเพลงและเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศ หลังจากนั้นอีก 2 วัน คือวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2507 สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาได้ถวายพระเกียติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลขที่ 23 ดังปรากฏพระปรมาภิไธยจารึกบนแผ่นหินอ่อนของสถาบันอันเก่าแก่ของยุโรปนี้ ประธานสถาบันได้กล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นผู้สร้างสัมพันธ์อันดียิ่งระหว่างดนตรีตะวันออกกับตะวันตก และทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระปรีชาสามารถ นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งทวีปเอเชีย ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ณ ศูนย์กลางแห่งการดนตรีในทวีปยุโรป ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ขณะที่ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 37 พรรษา พสกนิกรชาวไทยทุกคนไม่เพียงแต่ชื่นชมในพระเกียรติยศทางดนตรีที่ทรงได้รับจากนานาประเทศเท่านั้น แต่ยังภาคภูมิใจในความสำเร็จจากการเสด็จพระราชดำเนินกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศด้วย


อัครศิลปิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทว่า การดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดความปิติ ความสุข ความยินดี ความพอใจได้มากที่สุด หน้าที่ของนักดนตรีนั้นคือ ทำให้ผู้ฟังเกิดความพอใจ ความครึกครื้น ความอดทน ความขยัน มีความเข้มแข็งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ นอกจากจะสร้างความบันเทิงแล้ว ควรแสดงในสิ่งที่จะเป็นไปในทางสร้างสรรค์ เช่น ชักนำให้คนเป็นคนดีด้วย และมีพระราชกระแสย้ำว่า

     "...ฉะนั้น การดนตรีนี้จึงมีความสำคัญต่อประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดี ๆ ก็จะทำให้คนมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานการก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงกลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้นดนตรีก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในรูปการณ์ต่าง ๆ ว่ามีความสำคัญ และต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดีทั้งถูกต้องในหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่งและถูกต้องตามหลักวิชาของผู้ที่มีศีลมีธรรมมีความสื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่า เพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี"

พระบรมราโชวาทดังกล่าวเป็นการส่งเสริมนักดนตรีให้ช่วยกันจรรโลงสังคมด้วยผลงานในเสียงดนตรี สร้างสรรค์งานศิลปะให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย

 พระราชอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนับว่าเป็นอเนกอนันต์ ทั้งในด้านวิชาการ การดนตรี การพระราชนิพนธ์ การส่งเสริมและการอุปถัมภ์ด้านดนตรี ทั้งนี้ด้วยทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ในศาสตร์แห่งศิลปะการดนตรี ที่สร้างความดีงามและความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นประโยชน์นานัปการแก่สังคมและประชาชนชาวไทยโดยส่วนรวมอย่างเต็มเปี่ยม สมดังที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน" โดยแท้.

ผลงานเพลงพระราชนิพนธ์ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถพร้อมมูลในทุกๆ ด้าน พระองค์ทรงเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างสูงยิ่ง ทรงเป็นนักแซกโซโฟน นักคลาริเนต นักทรัมเป็ต และนักเปียโน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถทางดนตรีเป็นพิเศษ ทั้งคลาริเนตและแซกโซโฟน มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลก เดินทางมาแสดงในเมืองไทย และได้บรรเลงร่วมวงกับพระองค์ท่าน ทรงบรรเลงอย่างคีตปฏิภาณ (Improvisation) ได้อย่างคล่องแคล่ว และฉับพลัน อาทิ เบนนี่ กูดแมน (Benny Goodman) นักคลาริเนต แจ๊ก ทีการ์เดน (Jack Teagarden) ซึ่งเป็นนักระนาดฝรั่ง ลีโอเนล แฮมพ์ตัน (Lionel Hampton) นักทรอมโบน นอกจากนั้นยังมีแสตน เก็ตส์ (Stan Getz) ซึ่งเป็นนักแซกโซโฟนเอกของโลกอีกคนหนึ่ง

นักดนตรีที่ดีนั้นหายาก นักดนตรีที่ดีและประพันธ์เพลงด้วยนั้น หายากยิ่งขึ้นไปอีกและถ้าหากจะหานักดนตรี นักประพันธ์เพลง และเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยแล้ว มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

 
 พระบรมราโชวาทพระราชทาน เนื่องในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ 2 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร วันพฤหัสบดี ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ความตอนหนึ่งว่า

     "...ดนตรีนี้มีไว้สำหรับให้บันเทิง แล้วก็ให้จิตใจสบาย ดนตรีนี่คือเสียง แต่สิ่งประกอบยังมีว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร นั่นน่ะ ยังเป็นคุณภาพของเสียง ...พวกเราเป็นนักดนตรี นักเพลง นักเกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะในด้านการแสดง การแสดงโดยเฉพาะดนตรี พวกเรานี่มีความสำคัญมาก ไม่ใช่น้อยสำหรับส่วนรวม เพราะว่าดนตรีนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่จะแสดงออก ซึ่งความรู้สึกของชนหมู่หนึ่ง ในที่นี้ชนคนไทยก็คือ ประชาชนคนไทยทั้งหลาย จะแสดงความรู้สึกออกมา หรือจะรับความรู้สึกที่แสดงออกมา ก็ด้วยดนตรี พวกเราที่เป็นนักเพลงนักดนตรี จึงมีความสำคัญยิ่ง..."

 พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ชาวคณะสุนทราภรณ์ เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี สุนทราภรณ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 ความตอนหนึ่งว่า


     "...เดี๋ยวนี้สังเกตเห็นว่า เพลงมีทางดีและทางเสียได้ 2 อย่าง ถ้าอย่างที่ดีก็ทำให้ไม่เสื่อมเสียด้านศีลธรรม และส่วนดีนั้น ก็ชักจูงให้คนประกอบอาชีพในทางถูกต้องเหมาะสม ไม่ทำลายบ้านเมือง ในส่วนเสียนั้นข้อหนึ่ง ก็คือทำให้เสื่อมเสียในศีลธรรม ข้อสองก็คือเสื่อมในความรักชาติรักประเทศ ทั้งสองอย่าง ถ้าตั้งใจทำก็ทำได้ จะทำให้ประชาชนไม่ทำลายศีลธรรม หรือทำให้มีเพลงที่ช่วยให้รักชาติไม่ทำลายชาติ แต่ว่ามีเหมือนกันที่เพลงทำลายบ้านเมือง และทำลายความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง เราจึงต้องพยายาม ความพยายามนั้นก็มีได้ 3 อย่างคือ
1. ตั้งใจดีต่อบ้านเมือง ต่อศิลปะ
2. เป็นส่วนที่ตั้งใจร้ายต่อบ้านเมือง
3. ไม่ดีไม่ร้าย ทำเพียงแต่จะหากิน
พวกเราอย่าอยู่อย่างพวก 2 กับ 3 การทำมาหากินนั้นเราก็ทำ แต่อย่าทำลายศีลธรรม และอย่าทำลายชาติหรือศิลปะ..."

 พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะกรรมการประกวดแผ่นเสียงทองคำ ศิลปิน นักแสดง นักวิชาการประกวดภาพยนตร์ คณะกรรมการจัดงานประกวดภาพยนตร์ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ความตอนหนึ่งว่า

     "...ศิลปะการดนตรี การเพลง การแสดงนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับบุคคลทุกคน จะเป็นในประเทศไทย หรือต่างประเทศที่ไหนก็ตาม ก็ถือว่าดนตรีคือการแสดง ถือว่าเพลงเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นการแสดงออกมา ซึ่งจิตใจที่มีอยู่ในตัว จิตใจนั้นจะมีอย่างไร เพลงหรือการแสดงดนตรี หรือการแสดงภาพยนตร์ แสดงละครก็ได้แสดงออกซึ่งความคิด หมายถึงความดีที่มีอยู่ในตัวได้ทั้งนั้น นอกจากนั้น ก็สามารถที่จะแสดงความคิดในทางอื่นก็ได้ เช่น แม้จะลัทธิการเมือง หรือความรู้สึกในชาติบ้านเมือง ความรู้สึกในเรื่องของมวลมนุษย์ ก็ออกมาได้ทั้งนั้น อยู่ที่บุคคลเท่านั้นเองที่จะแสดงออกมาอย่างไร สำหรับผู้ที่เป็นศิลปินในด้านเพลง ในด้านแสดงดนตรี ในด้านแสดงละคร หรือภาพยนตร์ในประเทศไทย ข้าพเจ้าเข้าใจว่า มีจิตใจอยู่อย่างเดียวคือ อยากที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่เป็นปึกแผ่น และเพื่อให้ประเทศชาติ เป็นปึกแผ่นนั้นมีวิธีอย่างหนึ่ง ซึ่งดีมากก็คือ แสดงว่าประเทศไทย เรามีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือจะว่า มีเอกลักษณ์คือมีการแสดงออกมาได้ว่า คนไทยเรามีประเทศชาติ คนไทยเรามีประวัติศาสตร์ที่ยืนนานมานานเป็นร้อย ๆ ปี เรารักษามาได้แล้ว ก็ทำให้มีความเป็นไทยอยู่ในจิตใจแท้ ๆ ความเป็นไทยที่มีอยู่ในจิตใจจะออกมาทางศิลปะ ...แต่ถ้าไม่ระมัดระวังและไปเชื่อว่า ดนตรีต้องเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่การซึ่งมีอยู่ในใจแท้ ๆ แต่เป็นการเรียกว่าการรับจ้าง..."

 พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่คณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยฯ เฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อสมทบทุน "โครงการพัฒนาตามพระราชประสงค์" ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ความตอนหนึ่งว่า

     "...การดนตรีนี้จึงมีความสำคัญสำหรับประเทศชาติ สำหรับสังคม ถ้าทำดี ๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานการ ก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงกลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้นดนตรีนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่างๆ ว่า มีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดีทั้งถูกต้อง ในทางหลักวิชาของการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชาของผู้ที่มีศีล มีธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่า เพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี..."


บทเพลงพระราชนิพนธ์
เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแล้วจึงใส่คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองได้แก่ Echo, Still on My Mind, Old Fashioned Melody, No Moon และ Dream Island ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากคำร้องภาษาไทย ได้แก่ เพลงความฝันอันสูงสุด และเราสู้ นอกจากนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์หลายท่าน ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา นายศุภร ผลชีวิน นายจำนง ราชกิจ (จรัล บุณยรัตนพันธุ์) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เพลงพระราชนิพนธ์ ระหว่างปีพุทธศักราช 2489-2538 มี 48 เพลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นำในด้านการประพันธ์ทำนองเพลงสากลของเมืองไทย โดยทรงใส่คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อนทำให้เกิดเสียงประสานที่เข้มข้นในดนตรี เมื่อประกอบกับลีลาจังหวะเต้นรำที่หลากหลาย ทำให้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงบรรเลงได้อย่างไพเราะหลายบท กลายเป็นเพลงอมตะของไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทรงมีจินตนาการสร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา

 เพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงนั้น ล้วนแสดงออกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยถ้วนหน้า เช่น เพลงยามเย็น พระราชทานแก่สมาคมปราบวัณโรค เพื่อนำออกแสดงเก็บเงินบำรุงการกุศล เพลงใกล้รุ่ง บรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ในงานของสมาคมเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย เพลงยิ้มสู้ พระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพลงลมหนาว พระราชทานในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ เพลงพรปีใหม่ พระราชทานแก่พสกนิกรเนื่องในวันปีใหม่ เพลงเกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย เพลงความฝันอันสูงสุด และเพลงเราสู้ พระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ Kinari Suite พระราชทานเพื่อใช้ประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนราห์ และมีเพลงประจำสถาบันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ได้แก่ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เพลงธรรมศาสตร์ เพลงเกษตรศาสตร์ เพลงธงชัยเฉลิมพล ราชวัลลภ และ ราชนาวิกโยธิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวมนักดนตรีสมัครเล่นมารวมกันตั้งเป็นวงขึ้นเป็นครั้งแรก ขณะที่ทรงประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ประกอบด้วยพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงคุ้นเคย และเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) ขึ้นในปีพุทธศักราช 2495 เพื่อให้เป็นสื่อกลางที่ให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ในด้านต่าง ๆ พระราชทานชื่อว่า “วงลายคราม” ก็ได้มีการออกอากาศส่งวิทยุกระจายเสียงกับวงดนตรีต่าง ๆ ด้วย ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีรุ่นหนุ่มมาเล่นดนตรีร่วมกับวงลายคราม จึงเกิดเป็น วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ขึ้น วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์มีลักษณะพิเศษคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกอากาศกระจายเสียงทางสถานีวิทยุประจำวันศุกร์ และยังทรงจัดรายการเพลงเอง ทรงเลือกแผ่นเสียงเองในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลง และจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เองทุกวันศุกร์ และวันอาทิตย์เป็นวันฝึกซ้อม วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ยังเป็นวงดนตรีที่โปรดให้ไปร่วมบรรเลงในงาน “วันทรงดนตรี” ตามที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เพื่อทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตนักศึกษา เป็นการส่วนพระองค์ ก่อนที่จะยกเลิกไป เพราะทรงมีพระราชกรณียกิจเพิ่มมากขึ้น

 ในปีพุทธศักราช 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งแตรวง “สหายพัฒนา” ขึ้นอีกวงหนึ่ง โดยโปรดฯ ให้รวบรวมผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และโดยเสด็จฯ ในการพัฒนาภูมิภาคต่าง ๆ เป็นประจำ เช่น นักเกษตรหลวง คณะแพทย์อาสาสมัคร ข้าราชการในพระองค์ ราชองค์รักษ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน พระราชทานเวลาฝึกสอนในช่วงเวลาทรงออกพระกำลังในตอนค่ำของทุก ๆ วัน ทรงตั้งแตรวงขึ้นสำเร็จ และยังคงเล่นดนตรีเป็นประจำทุกค่ำของวันศุกร์ และวันอาทิตย์เป็นวันซ้อมร่วมกับนักดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ณ สถานี อ.ส. และเกือบทุกเย็นกับวงสหายพัฒนา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา จนถึงปัจจุบัน

         ลำดับปีพุทธศักราชที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลง
2489 เพลง สายฝน (Falling Rain) แสงเทียน (Candle Light Blues) ยามเย็น (Love at Sundown) ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
2490 เพลง ชะตาชีวิต (The H.M. Blues) ดวงใจกับความรัก (Never Mind the H.M. Blues)
2492 เพลง มหาจุฬาลงกรณ์ (Chulalongkorn Alma Mater) อาทิตย์อับแสง (Blue Day) เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You) คำหวาน (Sweet Words)
2493 เพลง แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
2495 เพลง พรปีใหม่ (New Year Greetings) ยิ้มสู้ (Smiles) มาร์ชธงชัยเฉลิมพล (The Colours March)
2496 เพลง ยามค่ำ (Twilight) มาร์ชราชวัลลภ (The Royal Guards March)
2497 เพลง ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag) เมื่อโสมส่อง (I Never Dreamed) ลมหนาว (Love in Spring)
2498 เพลง Oh I Say, Can't You Ever See, Lay Kram goes Dixie
2499 เพลง ค่ำแล้ว (Lullaby)
2500 เพลง สายลม (I Think of You) ไกลกังวล
2501 เพลง แสงเดือน (Magic Beams)
2502 เพลง ฝัน (Somewhere Somehow) Alexandra, มาร์ชนาวิกโยธิน (The Royal Marines March)
มโนราห์ (The Kinari Suite): The Nature Waltz The Hunter Kinari Waltz
มโนราห์: ภิรมย์รัก (The Kinari Suite: A Love Story)
2506 เพลง When (ทำนองเพลงไกลกังวล) ธรรมศาสตร์ (Thammasart Alma Mater)
2508 เพลง ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind) เกาะในฝัน (Dream Island), Old-Fashioned Melody, No Moon
2509 เพลง เพลินภูพิงค์ แว่ว (Echo) เกษตรศาสตร์ (Kasetsart Alma Mater)
2510 เพลง เตือนใจ (ทำนองเพลง Old-Fashioned Melody)
2512 เพลง ไร้เดือน (ทำนองเพลง No Moon)
2514 เพลง ความฝันอันสูงสุด
2516 เพลง แผ่นดินของเรา (ทำนองเพลง Alexandra) เราสู้
2238 เพลง รัก เมนูไข่ (ไข่เจียว) เมื่อเดือนมกราคม 2538 ทรงพระราชทานเพลง "รัก" ทำนองในพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคำร้องในพระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ทั้งเทป แผ่นเสียง และซีดีเพลงพระราชนิพนธ์

 ผลงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ถูกนำไปบรรเลงในรูปแบบต่างๆ มากมายและหลากหลาย ทั้งที่เป็นเทป แผ่นเสียง (Long Play) และเป็นแผ่นซีดี (Compact Disc) จากทำนองเพลงดั้งเดิม ก็ถูกนำไปถ่ายทอดในหลากหลายลีลา เพลงร้อง เพลงบรรเลง ทั้งในลีลาเพลงแจ๊ส เพลงสมัยนิยม และเพลงคลาสสิค มีตั้งแต่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีชิ้นเดียว อย่างกีตาร์คลาสสิคหรือเปียโนไปกระทั่งวงขนาดใหญ่ (Big Band) และวงออร์เคสตร้า (Orchestra)


ด้านดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทยและนาฏยศิลป์ไทยไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้นักดนตรีไทยช่วยกันรักษาระดับเสียงของดนตรีไทยไว้เพื่อเป็นมาตรฐานของวงดนตรีรุ่นหลัง ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือ “โน้ตเพลงไทย เล่ม 1” เพื่อรวบรวมและรักษาศิลปะทางดนตรีไทยไว้ให้เป็นหลักฐานและมาตรฐานต่อไป และทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยบันไดเสียงของดนตรีไทย โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีครอบประธานครูโขนละคร และต่อ กระบวนรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงในวิชาดนตรีและนาฏยศิลป์ไทยอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมทั้ง 2 อย่างนั้น ดำเนินมาจนถึงจุดที่ใกล้จะสูญสิ้นแล้ว จึงนับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อนุรักษ์ศิลปะของไทยเพื่อให้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
http://kanchanapisek.or.th/kp8/art/f_musical_th.html 
http://royalmusic.tkpark.or.th/genius.htm 

 

 

เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หมายถึง เพลงที่พระองค์พระราชนิพนธ์เนื้อเพลงและ ทำนอง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปรีชาญาณในเรื่องของดนตรี และทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง ประกอบด้วยเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองมี 5 เพลง คือ "Echo", "Still on My Mind", "Old-Fashioned Melody", "No Moon" และ "Dream Island" เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังโดยใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว ได้แก่ ความฝันอันสูงสุด เราสู้ และ รัก

ผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์มีหลายท่าน ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ, ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา, นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์), หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นต้น

ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป และโดยพระองค์ท่านเองทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี วง อ.ส. วันศุกร์ ออกอากาศ ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ในระยะหลังพระองค์มีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาที่จะพระราชนิพนธ์เพลง เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาคือเพลง "เมนูไข่" เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องทรงพระนิพนธ์โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี พ.ศ. 2538

อ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ.2495 จวบจนวันนี้เพลงพรปีใหม่ ก็ยังถูกบรรเลงอยู่ทุกปี

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะวอลซ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้บรรเลงครั้งแรกที่เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2489 ในงานรื่นเริงของ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ในเวลาต่อมาเพลงนี้นำมาขับร้องใหม่โดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส , นภา หวังในธรรม, สวลี ผกาพันธ์

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 37 ที่ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.2508 เมื่อพระชนมายุได้ 38 พรรษา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย โดยแปลจากคำร้องภาษาอังกฤษในลักษณะวรรคต่อวรรค และรักษาความหมายเดิมของคำร้องภาษาอังกฤษซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้ด้วย

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 16 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลง ในงานสมาคมช่วยคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2495

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองมีปัญหารอบด้าน ทั้งการปกครองโดยรัฐบาลทหาร การประท้วงบ่อยครั้ง จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดในประเทศขึ้น (เหตุการณ์ 14 ตุลาคม เกิดในปี 2516) ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เล่าไว้ในหนังสือ "ภิรมย์รัตน์" ว่า เมื่อตามเสด็จฯไปอยู่ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พ.ศ.2512 ได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 27 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2501 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพลงพระราชนิพนธ์นี้มีลีลาชดช้อย อ่อนหวาน สง่างาม เหมาะสำหรับประกอบการเต้นบัลเล่ต์ จึงได้พระราชทานให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงบัลเล่ต์ในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ต่อมาได้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ.2489 ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำต้องสมบูรณ์ให้นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2489 นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ พระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลงครั้งแรก ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้