Last updated: 20 ธ.ค. 2564 | 44986 จำนวนผู้เข้าชม |
เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ.2495 จวบจนวันนี้เพลงพรปีใหม่ ก็ยังถูกบรรเลงอยู่ทุกปี
หากสังเกตในส่วนเนื้อเพลงที่มีคำว่า ‘ข้า’ นั้นก็เป็นคำสรรพนามบุรุษที่หนึ่งมาจากคำว่า ‘ข้าพเจ้า’ ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นเอง เพื่อให้เพลงนี้เสมือนกับพระองค์มาอวยพรให้เหล่าพสกนิกรด้วยพระองค์เองผ่านบทเพลง ส่วนคำว่า ‘ปวงท่าน’ ในที่นี้ก็หมายถึงพสกนิกร คนไทยทุกหมู่เหล่า
ความหมายของเพลง พรปีใหม่
เนื้อเพลงนั้นเป็นการอวยพรปีใหม่โดยเนื้อหาของคำอวยพรปีใหม่มีอยู่ว่าขอให้ชีวิตรื่นรมย์สมหวังในทุกสิ่ง โดยพระองค์ท่านยังได้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้อวยพรให้ทุกคนมีโชคดีเข้ามาในชีวิต ให้รุ่งเรืองสุขสมหวังทุกสิ่งตลอดปีและตลอดไป
ส.ค.ส. พระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งเเต่ปี 2530 - 2558
ส.ค.ส. พระราชทาน เป็นบัตรส่งความสุข ซึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปี (ยกเว้น พ.ศ.2548) ในวันสิ้นปี (31 ธันวาคม) ของทุกปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพร เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี นอกจากนี้ ยังทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจมาปรุแถบโทรพิมพ์ (เทเล็กซ์) พระราชทานพรปีใหม่ แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงาน โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส.9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสารทรงระบุท้ายโทรพิมพ์ว่า กส.9 ปรุ ส.ค.ส. พระราชทานที่เป็นโทรพิมพ์เหล่านี้ เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ.2530 เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงได้ทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.2531 โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โทรสาร (แฟกซ์) พระราชทานไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปี จะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมืองเพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ประเทศไทยต้องประสบในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในปีต่อๆ มา หนังสือพิมพ์รายวัน ได้นำลงตีพิมพ์ ในฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคมเพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมอย่างทั่วถึง นับแต่ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ทรงเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายของ ส.ค.ส.พระราชทาน เป็น ก.ส.9 ปรุง เนื่องจากทรงเปลี่ยนจากการ "ปรุ" ด้วยโทรพิมพ์ เป็นการ "ปรุง" ด้วยคอมพิวเตอร์ ถัดจากนั้น จะทรงระบุวันและเวลาที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น เป็นรูปแบบเฉพาะ ดังนี้ ววชชนน ดด ปปปป เมื่อ ว=วันที่ ช=เวลาเป็นชั่วโมง น=เวลาเป็นนาที ด=เดือน และ ป=ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2548 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ส.ค.ส. ปี 2549 เป็นภาพสี นอกจากนี้ คำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน ตั้งแต่ปีดังกล่าวเป็นต้นมา จะมีข้อความ "พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad, D.Brahmaputra, Publisher" (ใน ส.ค.ส. ปี 2549)และ "Printed at the Suvarnnachad Publishing, C.Brahmaputra, Publisher" (ใน ส.ค.ส. ปี 2550)
รับฟังบทเพลง
คำร้อง และทำนอง
สวัสดีวันปีใหม่พา
ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม
ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า
ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี
ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์
ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่
ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ
ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์
สวัสดีวันปีใหม่เทอญ
อ้างอิง :
31 ธ.ค. 2563
28 ธ.ค. 2563