อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"

Last updated: 10 ก.พ. 2565  |  1936 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"

ผืนดินที่เคยกลายเป็นหินกรวดแห้งแล้ง ที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะทำประโยชน์อะไรได้ จะกลับมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์

   ความเป็นมา : ในอดีตพื้นที่ภาคเหนือซึ่งส่วนมากเป็นภูเขาที่เคยมีป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ ได้ถูกรุกล้ำ ทำลาย จากป่าสมบูรณ์ กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ความแห้งแล้งก่อให้เกิดไฟป่า สัตว์ป่าน้อยใหญ่ ไร้ที่พักพิง ผู้คนในพื้นที่ต้องอยู่กันอย่างแร้นแค้น ยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไข และฟื้นฟูผืนดิน ป่าไม้ และพัฒนาแหล่งต้นน้ำลำธาร

   หลักการ : การจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เพื่อฟื้นฟูป่า พัฒนาดิน น้ำ และส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำหน้าเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต บนพื้นที่กว่า 8500 ไร่ ได้มีการศึกษา ทดลอง วิจัยกว่า 200 เรื่อง

   ให้ประชาชนได้เข้ามาศีกษาเรียนรู้ โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์เป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการปศุสัตว์ ด้านการประมง และมีการพัฒนาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติภายในศูนย์ศึกษา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงพัฒนาด้านดิน น้ำ และป่าไม้

   ถือเป็นโรงเรียนที่รวบรวมสรรพวิชาในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย วิธีการแก้ปัญหาด้านเกษตรกรรม ที่ครอบคลุมปัญหาเรื่องน้ำ ดิน และป่าไม้ ด้วยแนวคิดการพัฒนาต้นทางเป็นป่าไม้ ระหว่างทางเป็นเกษตรกรรม ปลายทางเป็นประมง มีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ใช้สอย ไม้ผล ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ที่ 4 คือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ

   ในเรื่องการฟื้นฟูป่า พระองค์ใช้หลักการที่เรียกว่าป่าเปียก โดยสร้างอ่างเก็บน้ำจากลำห้วยที่มีเพียงสายเดียว ทางด้านบนของพื้นที่ และทำเป็นคลองใส้ไก่ กระจายน้ำไปตามความลาดชัน ลงสู่อ่างเก็บน้ำทางด้านล่าง แล้วสร้างฝายชะลองน้ำเป็นระยะ วิธีนี้ทำให้รักษาความชุ่มชื้นไว้ในดินได้ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี มีฝายชะลอน้ำมากกว่า 26,000 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ
 


    ผลการพัฒนา ได้ขยายผลความสำเร็จไปสู่ประชาชนมากมาย สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทำให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการสร้างสมดุลให้คนกับป่า สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ได้อย่างยั่งยืน

นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้