Last updated: 15 มิ.ย. 2565 | 1240 จำนวนผู้เข้าชม |
โฆษกชาวบ้าน สานสันติสุขแดนใต้ คือ หัวใจในการสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน
ความเป็นมา : จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การแก้ปัญหาในพื้นที่ ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการแก้ปัญหาอย่างเฉพาะจุด จึงทำให้ภาครัฐที่เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหา ต้องใช้ความรู้ความสามารถ และใช้ต้นทุนของทรัพยากรบุคคลในพื้นที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหาร่วมกัน
สำนักงานปฏิบัติการข่าวสารได้ริเริ่มก่อตั้งโฆษกชาวบ้าน เมื่อปี 2556 โดยได้นำผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เข้าไปพบปะสื่อสารกับกลุ่มมวลชนในการประชุมและพบปะต่างๆ จนเกิดเป็นแนวความคิดในการช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ภาครัฐ ที่ใช้ความเป็นคนพื้นที่ ความคุ้นเคย ใช้ภาษาวัฒนธรรมเดียวกันในการสื่อสาร
ในปี 2557 ได้นำแนวความคิดดังกล่าวมาจัดทำโครงการอบรมโฆษกชาวบ้าน ให้เป็นผู้นำข้อมูลข่าวสารสื่อไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันมียอดโฆษกชาวบ้านที่ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 17 รุ่น จำนวน 991 คน
โฆษกชาวบ้านมาจากบุคคลหลากหลายอาชีพ เป็นงานจิตอาสา ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงภาครัฐ ช่วยกระจายข่าวสารในรูปแบบของพิธีกร ผู้ประกาศสถานีวิทยุ ผู้นำชุมชน หรือการสร้างกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ชุมชน หมู่บ้านตนเอง เป็นสื่อกลางเพื่อการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน โดยอาศัยจุดแข็งของความเป็นคนในพื้นที่ ที่มีภาษา ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตสังคมเดียวกัน
สำหรับการสนับสนุนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แก่มวลชนโฆษกชาวบ้าน เช่น การสร้างความตระหนักรู้ในนโยบายสำคัญ เร่งด่วนของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 การสร้างความเข้าใจในการแสดงออกทางการเมืองของบุตรหลานในพื้นที่ ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย การรวมมวลชนแสดงพลังปกป้องสถาบัน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา การสร้างความตระหนักรู้แนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านการพูดคุย การช่วยเหลือ การแจกเครื่องอุปโภคบริโภค การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ การสร้างความเข้าใจ การสร้างความตระหนักรู้ถึงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ก้าวหน้าแห่งอนาคตในพื้นที่อำเภอจะนะ การสร้างความตระหนักรู้เพื่อร่วมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ การสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการให้โอกาสแก่ผู้หลงผิด กลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวด้วยความเข้าใจ ด้วยการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อภาครัฐ โดยจากตัวอย่างการดำเนินการจะเห็นว่า โฆษกชาวบ้านเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนบรรลุผลสำเร็จ และเป็นส่วนสำคัญที่จะนำสันติสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน
ด้วยความปรารถนาดีจาก กองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร