Last updated: 4 เม.ย 2565 | 2576 จำนวนผู้เข้าชม |
โครงการพระดาบส โรงเรียนช่างที่พ่อสร้าง ชุบชีวิตใหม่ให้ปวงประชา
ความเป็นมา : มีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา เรื่องทุนทรัพย์อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาได้
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้ง ถึงเหตุที่ทำให้ราษฎรจำนวนไม่น้อย ยากไร้ ขาดโอกาสเล่าเรียน ไม่มีอาชีพ ไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ทรงให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา และทรงรำลึกถึงวิธีการประสิทธิ์ประสาทวิชาของครูบาอาจารย์ในโบราณกาล เช่นพระดาบส ผู้ใดที่อยากได้ความรู้ก็ขวนขวายเข้าไปในป่า ไปหาดาบส ไปหาฤษี และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ก็จะได้ศิลปะวิชาต่าง ๆ และจะต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจ และศรัทธาอย่างแท้จริง
หลักการ : จึงทำให้เกิดโครงการที่ชื่อว่า โครงการพระดาบสขึ้นมา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ทรงพระราชทานโอกาสโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโรงเรียนวิชาช่าง หลักสูตรเน้นภาคปฏิบัติ เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับโอกาสในการเรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ
ในช่วงแรกพระองค์ทรงให้ทหารผ่านศึกได้มาเรียนเพียง 6-7 คน ไม่กำหนดพื้นฐานความรู้ขั้นต่ำ ไม่จำกัดเพศ วัย และศาสนา รวมทั้งให้อยู่ประจำในโรงเรียนจนกว่าจะเรียนจบ ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ที่พัก และอาหาร โดยจะใช้การประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาแบบพระดาบสในสมัยโบราณ
ปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ ที่มีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี โดยเปิดรับนักเรียนปีละ 150 คน และเปิดการสอนอยู่ทั้งหมด 8 อาชีพด้วยกัน ได้แก่ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอีเล็กทรอนิกส์ ช่างซ่อมบำรุง ช่างไม้เครื่องเรือน ช่างเชื่อม และเคหะบริบาล หรือผู้ช่วยพยาบาล ที่จะคอยดูแลผู้ป่วย การเกษตรพอเพียง โดยมีกิจกรรมทางด้านการเกษตรและการประมง อาทิ เลี้ยงกุ้งขาว ปลานิล ปลาสลิด ปลาทับทิม และกบพันธุ์บลูฟร็อกซ์ (Bullfrogs) การปลูกผัก ไม้ผล อาทิเช่น ผักไฮโดรพอนิกส์ (hydroponics) เพาะเห็ดถุง ปลูกแก้วมังกร มะนาวและไม้ประดับ การปศุสัตว์ทั้งโคเนื้อและไก่ไข่ นอกจากนั้นยังมีการใช้พลังงานทดแทน และการศึกษานอกระบบ รวมถึงการฝึกอบรม ฝึกปฎิบัติงานนอกพื้นที่
โครงการพระดาบสนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณธรรม และเป็นคนดีของสังคม
นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร
14 มี.ค. 2565