Last updated: 21 ม.ค. 2565 | 2120 จำนวนผู้เข้าชม |
ณ ดินแดนที่เรียกว่า เขาหินซ้อน นั้น มีแต่ความแห้งแล้งกันดาน พื้นที่เป็นดินทราย เสื่อมโทรม ขาดแร่ธาตุ จนเพาะปลูกไม่ได้ ราษฎรอยู่กันอย่างแร้นแค้น ยากลำบาก
ความเป็นมา : ท่ามกลางความสิ้นหวัง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมายังดินแดนแห่งนี้ และพระราชทานพระราชดำริ ให้สร้างศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา ขึ้น
หลักการ : จากที่ดิน 264 ไร่ ซึ่งราษฎรได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย นับจากนั้น… แสงแห่งความหวัง ได้เริ่มสาดส่อง และค่อยๆ สร้างความเจริญงอกงาม พระองค์มีพระราชดำริ ให้พัฒนาแหล่งน้ำ และวางระบบชลประทาน เพื่อนำพาสายน้ำไปสู่ที่ทำกินของราษฎรอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งหล่อเลี้ยงทรัพยากรธรรมชาติ
เช่นเดียวกับการฟื้นฟูดินอย่างเป็นระบบ ด้วยการปรับปรุงบำรุงดิน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ส่งเสริมให้ราษฎรหันมาใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ แทนการใช้ปุ๋ยเคมี และการปลูกหญ้าแฝก เพื่อปรับโครงสร้างของดิน กักเก็บความชุ่มชื้น และป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน
ขณะที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบเกษตรกรรม จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาทำเกษตรแบบผสมผสาน เป็นอีกหนึ่งในพระราชดำริ ที่สร้างความมั่นคงยั่งยืน บนพื้นที่ทำกินของราษฎร รวมทั้งการศึกษาทดลอง พัฒนารูปแบบเกษตรกรรม ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และวิถีชีวิตท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมงานด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร
นี่คือโรงสีข้าวจากแนวพระราชดำริ เพื่อถ่ายทอดความรู้การสีข้าว ในรูปแบบของสหกร รวมทั้งให้บริการสีข้าวแก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยสามารถผลิตได้ทั้งข้าวกล้อง ข้าวขาว และคัดเกรดข้าวสารได้เป็นอย่างดี
ด้านการฟื้นฟูป่าไม้ และอนุรักษ์พืชพันธ์ธรรมชาติ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้ศึกษาวิจัย พัฒนาประโยชน์ของพืชพันธ์ต่างๆ เพื่อสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมการปลูกป่า พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกให้ราษฎรช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยความรักและหวงแหน
ด้วยการดำเนินกิจกรรมในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้พัฒนาพลิกฟื้นดินแดนที่เคยแห้งแล้งกันดาน ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ดิน น้ำ ป่า กลับมาสร้างวงจรธรรมชาติและหล่อเลี้ยงพื้นที่ทำกินของราษฎรอย่างสมดุล
ปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเนื้อที่รวม 1,895 ไร่ นับเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งแรก ที่ได้สร้างต้นแบบแห่งความสำเร็จ ด้วยรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม กับสภาพพื้นที่ความเป็นอยู่ และถ่ายทอดความรู้ไปสู่ราษฎร เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และนี่คือเรื่องราวดังปฎิหาริย์ ที่เกิดขึ้นบนดินแดนที่ป่าเคยหาย น้ำเคยแห้ง ดินเคยเลว แต่ก็สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ด้วยแนวพระราชดำริ
นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์