อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง"

Last updated: 11 ม.ค. 2565  |  1638 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง"

เพราะป่าไม้หาย สายน้ำจึงเหือดแห้งไปจากลุ่มน้ำแม่ปิง

  ความเป็นมา : นี่คือเหตุอันสำคัญที่ทำให้ผู้คนใน 14 หมู่บ้าน ของอำเภอจอมทอง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ต้องตกอยู่ในความทุกข์ทน ด้วยความยากจนและแร้นแค้นแหล่งน้ำ จวบจนกระทั่งปี 2526 ขณะศูนย์บริการการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอก ไม้ผล บ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เข้ามาทดลองปลูกดอกไม้เมืองหนาว ในดินแดนบริเวณนี้ เรื่องราวความทุกข์ยากของราษฎรจึงได้ทราบถึงองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้งโครงการและสร้างอ่างเก็บน้ำสาขาต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำปิง เพื่อกักเก็บน้ำและส่งให้กับราษฎรที่ได้รับความเดือนร้อน ให้พัฒนาจัดสรรเป็นที่ทำกินให้แก่ราษฎร พื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำให้อนุรักษ์เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อได้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป

  หลักการ : โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมดำเนินงาน ออกเป็นแนวเขตดังต่อไปนี้

 แนวที่ 1 กำหนดพื้นที่ตอนบน ตามที่ทรงวางโครงการในช่วงระยะแรก จำนวน 13 อ่าง เพื่อจัดหาน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกเดิมของราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ปิดกั้นลำห้วยต่าง ๆ บริเวณใดที่เป็นป่าเสื่อมโทรมให้กรมป่าไม้พิจารณาเร่งรัดการปลูกป่า ให้พิจารณาวางโครงการยกระดับน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนบน สนับสนุนการส่งน้ำในพื้นที่ตามไหล่เขาช่วยการปลูกป่าที่อยู่เหนือระดับส่งน้ำด้วย

 แนวที่ 2 ควรพิจารณากำหนดพื้นที่ตอนกลางบริเวณตามแนวเชิงเขา ซึ่งมีหมู่บ้าน ตั้งอยู่เป็นแนวเขตพื้นที่ที่จะต้องพัฒนา นอกจากนั้นยังได้ทรงพิจารณาเห็นว่าราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนและทำกินอยู่บริเวณพื้นที่นี้ มีระบบโครงสร้างชุมชนเป็นสังคมแบบดั้งเดิม มีลักษณะที่มีความใกล้ชิด ช่วยเหลือจุนเจือกันเป็นอย่างดี มีรากฐานของการจัดการที่เห็นได้ชัด เช่น การแบ่งปันข้าวให้กับผู้ขาดแคลนบริโภคในรูปแบบของธนาคารข้าวพื้นบ้าน นอกจากนั้นยังมีการแบ่งปันรายได้จากการขายวัว เมื่อมีปัญหาการขาดแคลนข้าวเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นรากฐานการจัดระบบธนาคารโคพื้นบ้านด้วยเช่นกัน

 แนวที่ 3 เป็นพื้นที่ตอนล่าง สำหรับแนวทางการจัดสรรที่ดินทำกินควรพิจารณาจัดสรรที่ดินเป็นลักษณะสัมปทานรูปแบบพิเศษให้เช่าพื้นที่ทำกินแบบคล้ายการดำเนินงานในรูปนิคม โดยมอบหมายให้จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนและกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกันรับผิดชอบ

 

 

  จากสภาพความแห้งแล้งของพื้นที่ดั้งเดิม ซึ่งสร้างความทุกข์ทนแก่ผู้คนในลุ่มน้ำแม่ปิง หากมาบัดนี้ ภาพความเขียวขจีของผืนป่า และพื้นที่เกษตรกรรม ได้จุดประกายความหวังและชีวิตใหม่ ที่พลิกผันมาสู่พวกเขาแล้วในวันนี้

นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้