อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย"

Last updated: 4 ม.ค. 2565  |  2376 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย"

ปัญหาขยะและน้ำเน่าเสียในชุมชน รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

  ความเป็นมา : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงห่วงใยในปัญหาดังกล่าว จึงมีพระราชดำริ ทำโครงการแหลมผักเบี้ย เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 เพื่อจัดการเรื่องการบำบัดน้ำเสีย และขยะ โดยมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ การให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ การใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย และเน้นความประหยัด สามารถปรับใช้ได้กับตามแต่วัสดุในท้องถิ่น

  หลักการ : การจัดการขยะ ทรงดำริให้นำขยะที่ทำการหมักแล้วไปถมป่าชายเลน แล้วปลูกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น โดยใช้กล่องคอนกรีตเป็นชั้น ๆ โดยพื้นที่รองด้วยชั้นทรายละเอียดหนา 20 ชม. ใส่ขยะที่คัดแยกให้มีน้ำหนัก 660 กก. ปิดทับด้วยดิน น้ำหนัก 210 กก. ส่วนชั้นสุดท้ายใส่ขยะ 670 กก. แล้วปิดทับด้วยดิน น้ำหนัก 730 กก. รดน้ำเพิ่มความชื้นจำนวน 100 ลิตร โดยการดูแลเพื่อเร่งขยายจุลินทรีย์ในการย่อยสลายของขบวนการการหมักจะต้องรดน้ำทุก ๆ 7 วัน ครั้งละ 30 ลิตร เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ขยะ ถ้าแยกขยะสมบูรณ์ใช้เวลา 20 วัน จะได้ปุ๋ยหมักจากขยะและทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อลดความชุ่มชื่นลง

  การจัดการน้ำ น้ำส่วนใหญ่ที่ส่งมาบำบัดเป็นน้ำเสียจากเทศบาลเมืองเพชรบุรี ที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้าน วันละ 5000-6000 ลบ เมตร โดยจะเริ่มจากผ่านบ่อบำบัดน้ำเสียทั้ง 5 บ่อ

  • บ่อตกตะกอน 1 บ่อ
  • บ่อผึ่ง 3 บ่อ
  • บ่อปรับสภาพ 1 บ่อ

  แต่ละบ่อใช้เวลาการบำบัด 7 วัน ให้แสงแดดและกระแสลมเพิ่มออกซีเจนในน้ำ ก่อนจะเข้าสู่ระบบที่ 2 คือ ระบบพืชและหญ้ากรอง โดยนำน้ำไหลผ่านเพื่อช่วยให้พืชปล่อยออกซีเจนลงไปในน้ำ

  จากนั้นเข้าสู่ระบบที่ 3 คือ ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม กลไกลจะคล้ายกับระบบพืชและหญ้ากรอง แต่ต่างกันตรงที่มีสภาพน้ำท่วมขังตลอดเวลา และระบบสุดท้าย คือ ระบบแปลงพืชป่าชายเลน เป็นขั้นตอนที่ให้ธรรมชาติบำบัดตัวเอง โดยอาศัยการขึ้นลงของน้ำทะเล ก่อนจะปล่อยน้ำออกสู่ธรรมชาติ

 

 

  นอกจากบำบัดน้ำเสียแล้ว ปลานิลและหญ้าต่างๆ คือผลพรอยได้ที่สามารถนำไปขายหรือแปลรูป สร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ที่สำคัญโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แหลมผักเบี้ย ยังเปรียบเสมือนศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์อื่นๆ อทิ นก ที่พบว่ามีสายพันธุ์เพิ่มขึ้นจาก 50 ชนิด เมื่อแรกเริ่มโครงการ ปัจจุบันมีถึง 280 ชนิด และปลาวาฬบรูด้า ที่เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ

นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้