Last updated: 4 ม.ค. 2565 | 3067 จำนวนผู้เข้าชม |
อ่าวคุ้งกระเบน พื้นที่ที่เคยเสื่อมโทรม ได้พลิกฟื้นกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
ความเป็นมา : ในอดีต บริเวณอ่าวคุ้งกระเบนจังหวัดจันทบุรี พื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ที่อุดมด้วยทรัพยากรอันมีค่า มีสภาพเสื่อมโทรมจากการทำประมงที่ผิดวิธี การจับสัตว์น้ำที่เกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ ประการสำคัญคือพื้นที่ชายฝั่่งถูกบุกรุกทำลาย ส่งผลให้น้ำทะเลรุกร้ำพื้นที่ราบลุ่มทางการเกษตร จนเกิดปัญหาดินเค็มและผลผลิตได้รับความเสียหาย นำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ บริเวณภูเขาเพื่อปักหลักพื้นที่ทำกินใหม่ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลของจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้มกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น โดยทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตร ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาจากยอดเขา สู่ท้องทะเล” บูรณาการความรู้ทางวิชาการ ควบคู่ไปกับภูมิปัญญาคนในท้องถิ่น
หลักการ : โดยเริ่มจากการฟื้นฟู และบำรุงรักษาทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ บริเวณพื้นที่สูงมีการปลูกป่าทดแทน การสร้างฝายชะลอน้ำ รวมไปถึงส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ทำให้ปัจจุบันอ่าวคุ้งกระเบนมีพื้นที่ป่าบกมากถึง 11370 ไร่ พลิกภูเขาร้างแล้งกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ในพื้นที่รอยต่อบริเวณเชิงภูเขากับป่าชายเลน มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งการปลูกพื้นเศษฐกิจ การเพาะเห็ดเศษฐกิจ การเลี้ยงและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งและชันโรง การเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่
ส่วนพื้นที่ตลอดชายฝั่งได้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ สร้างสมดุลของระบบนิเวศน์ จากพื้นที่ป่าชายเลนที่เหลืออยู่ 610 ไร่ สามารถฟื้นฟูเพิ่มมากขึ้นเป็นพื้นที่รวมถึง 1300 ไร่ และยังมีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบชลประทานน้ำเค็ม ที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์ มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ สร้างบ้านปลา มีการจัดตั้งธนาคารปู่ไข่ ส่งเสริมการอนุรักษ์ปะการัง และหญ้าทะเลในพื้นที่กว่า 926 ไร่
ตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ พยูน สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ หวนคืนถิ่น ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถทำประมงได้ทั้งบริเวณชายฝั่ง และในทะเลตลอดทั้งปี จากการมุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากร จากยอดเขาสู่ท้องทะเล ตลอด 38 ปี ทำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร แหล่งศึกษาดูงาน และฝึกอบรม ไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงพัฒนา สร้างความรู้และความเพลิดเพลินให้กับนักท่องเที่ยว กว่าปีละเจ็ดแสนคน เลยทีเดียว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์