Last updated: 20 ธ.ค. 2564 | 1885 จำนวนผู้เข้าชม |
จากวิกฤตภัยแล้งและอุทกภัยอย่างรุนแรงจากลุ่มน้ำป่าสัก สู่โอกาสสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ประชาชน
ความเป็นมา : นับตั้งแต่อดีตในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักมีต้นน้ำจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ปริมาณน้ำที่เยอะมากและสร้างปัญหาอุกภัยในช่วงน้ำหลากไล่มาถึงลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ รวมถึงปัญหาความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยราษฎร พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบตร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริถึงการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ แม่น้ำป่าสัก ให้มีการศึกษาและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอย่างจริงจังและเร่งด่วน ซึ่งกรมชลประทานได้สนองแนวพระราชดำริ ในปีพศ 2532 ทรงลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมด้วยพระองค์เอง เขื่อนป่าสักได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นในปี พศ 2537 ใช้เวลาก่อสร้างเขื่อนเป็นเวลา 5 ปี ได้มีพิธีปฐมฤกษ์กักเก็บน้ำเขื่อนในปี พศ 2541 และทรงพระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อันหมายถึงเขื่อนแม่น้ำป่าสัก ที่กักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” และเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย
หลักการ : เขื่อนจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำในช่วงเวลาน้ำหลาก และสำรองน้ำเพื่อนำมาใช้ในช่วงเวลาที่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ
ประโยชน์ : ผลจากโครงการเขื่อนป่าสัก ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคน้ำเพื่อการเกษตร เพิ่มผลผลิตข้าวนาปรัง และยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางระบบนิเวศของน้ำ ก่อให้เกิดชนิดของแพลงตอนเพิ่มขึ้น พบชนิดพันธุ์ปลามากขึ้นกว่า 100 ชนิด จนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และการประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการประกอบอาชีพในภาคเกษตร รวมทั้งการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างรายได้สร้างอาชีพได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นเวลากว่า 32 ปีแล้ว ที่เชื่อนป่าสักแห่งนี้ ได้ชุบชีวิตชาวบ้าน และเกษตรกรในจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี ให้ลืมตาอ้าปาก พ้นความลำบากยากแค้น ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ อันเกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลและพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ที่ทรงเห็นประโยชน์อันมากมายมหาศาลที่จะได้รับจากการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อการพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพสกนิกร
นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์