สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  13115 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่

    “พื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

    สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ นางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศได้

    จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” 

 

วัตถุประสงค์

    1. เป็นสถานีดำเนินงานวิจัยหลักของโครงการวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะงานวิจัยไม้ผลเขตหนาวและงานวิจัยป่าไม้ และงานเกษตรที่สูง

    2. เป็นสถานที่ ฝึกอบรม และเผยแพร่ผลงานแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร

    3. ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ แก่เกษตรกรชาวเขาในหมู่บ้านรอบๆ สถานีฯ 

 

การดำเนินงาน

      งานศึกษาวิจัย 

        สถานีเกษตรหลวงอ่างขางตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นตลอดปี ดังนั้นจึงเป็นสถานีหลักในการศึกษาวิจัยไม้ผลเขตหนาวของโครงการหลวงนับเป็นสถานีวิจัยไม้ผลเมืองหนาวที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและขยายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ได้แก่

        1. งานรวบรวมและศึกษาพันธุ์ไม้ผลเขตหนาวชนิดต่างๆ เช่น พี้ช, สาลี่, พลับ, พลัม, บ๊วย, กีวีฟรุ้ท และสตรอเบอรี่

        2. งานศึกษาพันธุ์ไม้โตเร็วชนิดต่างๆ และไผ่ต่างๆ สำหรับใช้ปลูกทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลาย เช่น ไม้โตเร็ว กระถินดอย, เมเปิลหอม, จันทร์ทองฯ, เพาโลเนีย และไผ่หวานอ่างขาง และไผ่หยก

        3. งานศึกษาและทดสอบพันธุ์ไม้ตัดดอก บางชนิด เช่น กุหลาบ, ฟรีเซีย, โปรเทีย, ไม้หัว และไม้ดอกกระถาง

        4. งานศึกษาและรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพร พืชผักเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ และผักใหม่ชนิดต่างๆ

        5. งานศึกษาพืชชนิดต่างๆ ได้แก่ ข้าวสาลี และ ลินิน

      งานเผยแพร่และฝึกอบรม

        เป็นการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวเขาบริเวณรอบๆ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ รวม 4 เผ่า ได้แก่ ปะหล่อง มูเซอ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ โดยมีส่วนราชการต่างๆ ร่วมดำเนินงานในรูปคณะทำงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง

        กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ การวางแผนการใช้ที่ดิน การส่งเสริมการปลูกไม้ผล ไม้ตัดดอก พืชผัก ชาจีน การผลิตไหลสตอเบอรี่ การฟื้นฟูระบบนิเวศ ในพื้นที่ต้นน้ำโดยการฟื้นฟูป่าโดยธรรมชาติและการปลูกป่าชาวบ้าน งานส่งเสริมที่นำไปสู่เกษตรกร ได้แก่

        1. งานทดสอบและส่งเสริมพืชเครื่องดื่มชา

            ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกชาพันธุ์ No.12 (ชาเขียวและชาอูหลง), หย่วนจืออูหลง และ พันธุ์ลูกผสม (ชาเขียวและอูหลง)

        2. งานส่งเสริมผัก

            มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักที่แปลง 2000 ,บ้านนอแล และ บ้านขอบด้งหลากหลายชนิดด้วยกัน เช่น ผักกาดหางหงส์, คะน้าใบหยิก, กะหล่ำปลีหัวใจ คะน้าฮ่องกง และ ถั่วหวาน ฯลฯ 

        3. งานส่งเสริมไม้ดอก

            ได้ให้เกษตรกรปลูกดอกหลายชนิดด้วยกัน เช่น กุหลาบตัดดอก (บ้านนอแล), เบญจมาศ (บ้านขอบด้ง), ยูคาลิบตัส (บ้านนอแล) และ ไม้กระถางสาธิต (บ้านขอบด้ง)

        4. งานส่งเสริมสตรอเบอรี่

            มีการแนะนำเกษตรกรบ้านขอบด้งในการเก็บผลผลิตสตรอเบอรี่ที่ถูกต้องเพื่อจำหน่าย และวิธีการป้องกันกำจัดศัตรูสตรอเบอรี่ รวมถึงการให้ปุ๋ย เป็นต้น

        5. งานส่งเสริมไม้ผล 

            ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูก บ๊วย, พี้ช, สาลี่, พลับ, และแนะนำวิธีการเปลี่ยนพันธุ์ ต่อกิ่ง การให้ปุ๋ย และ การดูแลรักษา

        6. งานส่งเสริมกาแฟ

            มีการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ดูแลถึงวิธีการให้ปุ๋ย การใช้สาร เพื่อป้องกันโรคและแมลง 

        7. งานส่งเสริมพืชไร่

            ส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกลินิน และ ปลูกข้าวบาร์เล่ย์ (เพื่อทำดอกไม้แห้ง)

        8. งานป่าชาวบ้าน

            ส่งเสริมชาวเขาเผ่าปะหล่องที่เข้าร่วมโครงการป่าชาวบ้านปลูกป่าพวกพรรณไม้โตเร็วของประเทศไต้หวันและมีการตัดแต่งกิ่งไม้ที่โตแล้วนำไปใช้งาน (ทำฟืน)

 

 

อ้างอิง :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้