Last updated: 18 ส.ค. 2564 | 6638 จำนวนผู้เข้าชม |
“…ให้พัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำลำนางรอง โดยสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะนาวที่หมู่บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง และสร้างเขื่อนลำนางรอง เพื่อควบคุมการจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรในการเพาะปลูกพืช…”
พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในปี 2520 พื้นที่อำเภอโนนดินแดงและอำเภอละหานทราย กลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้แสดงอิทธิพลขัดวางการพัฒนาทุกรูปแบบ มีการขัดขวางการสร้างถนนเส้นทางเชื่อมระหว่างอำเภอละหานทรายของจังหวัดบุรีรัมย์กับอำเภอตาพระยาของจังหวัดปราจีนบุรี(ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดสระแก้ว) ที่มีระยะทาง 50 กิโลเมตร จนทำให้ราษฎรและเจ้าหน้าที่ได้รับความสูญเสียมากมาย เพราะผู้ก่อการร้ายได้ใช้วิธีการวางทุ่นระเบิดและกับระเบิดดักเอาไว้ มีการต่อสู้ในพื้นที่อย่างรุนแรง ราษฎรถูกกวาดต้อนไปนอกประเทศเพื่ออบรมลัทธิคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังมีการปล้นสะดมตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ความรุนแรงของสถานการณ์ทำให้ราษฎรต้องอพยพ หลบภัยมาอยู่บ้านโนนดินแดง ก่อให้เกิดความแออัด อดอยากทุกข์ยากแสนสาหัส
เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2521 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายมนัส ปิติวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้นเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาจัดสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำนางรอง
ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2521 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อธิบดีกรมชลประทานเข้าเฝ้าฯ และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาลุ่มน้ำลำนางรอง โดยให้พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะนาวที่บ้านโนนดินแดงซึ่งแล้วเสร็จในพ.ศ.2522 จากนั้นก็สร้างเขื่อนลำนางรองฯ ในพ.ศ.2522 จนแล้วเสร็จใน พ.ศ.2525
ใน พ.ศ.2525 สร้างอ่างเก็บน้ำลำปะเทียแล้วเสร็จในพ.ศ.2527 ต่อมาได้สร้างระบบส่งน้ำอาคารประกอบซึ่งใน พ.ศ.2529 กรมชลประทานได้อนุมัติตั้งเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ลำนางรอง สังกัดสำนักชลประทานที่ 8 เพื่อควบคุมการจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ในการเพาะปลูกและดูแลการบำรุงรักษาอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพตลอดเวลา ในปีเดียวกันนี้ก็ได้สร้างอ่างเก็บน้ำลำจังหันฯจนแล้วเสร็จใน พ.ศ.2535
จะเห็นได้ว่าพระราชดำริในการพัฒนาลุ่มน้ำลำนางรองนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อราษฎรในพื้นที่ซึ่งหนีร้อนมาพึ่งเย็นแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในด้านการป้องกันภัยคุกคามจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายไปพร้อมกันด้วย เพราะเมื่อราษฎรมีที่อยู่ที่ทำกิน เขาก็จะช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ ช่วยกันป้องกันภัยที่คุกคามประเทศทั้งจากภายนอกและภายใน
ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำลำนางรอง เกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตได้ตลอดทั้งปีในรูปแบบเกษตรครบวงจร โดยช่วงฤดูฝนตั้งแต่ เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ทำนาได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยไร่ละ 50 ถัง พอหมดฝนย่างเข้าฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคมก็จะปลูกมะเขือเทศซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 6,700 กิโลกรัม เข้าฤดูแล้งช่วง เมษายนถึงพฤษภาคมก็จะปลูกข้าวโพดฝักอ่อนที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 680 กิโลกรัมต่อไร่และแตงกวาเพื่อป้อนโรงงาน นอกจากประโยชน์การเกษตรและอุปโภคบริโภคแล้ว “ อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนลำนางรองฯ ” ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนทั่วไปในฐานะของ “ ทะเลสาบแห่งอีสานใต้ ”ด้วย
อ้างอิง :
19 ก.ค. 2565
30 ส.ค. 2565
16 ส.ค. 2565
2 ส.ค. 2565