Last updated: 16 ส.ค. 2564 | 5030 จำนวนผู้เข้าชม |
“…แก้ปัญหาจราจรด้วยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว โดยให้จัดหารถจักรยานยนต์แก่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำหน้าที่เป็นรถนำขบวนให้แก่ประชาชน เพื่อแก้ปัญหาจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน…”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร จึงทรงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาให้ทุเลาลงด้วยการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 8 ล้านบาท ให้กรมตำรวจ (ในขณะนั้น) นำไปซื้อรถจักรยานยนต์เป็น "หน่วยเคลื่อนที่เร็ว" ทำหน้าที่ "สายตรวจจราจร" รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อวิทยุสื่อสาร ค่าเบี้ยเลี้ยง ฯลฯ ในการนี้พระองค์ได้พระราชทานแนวทางการปฏิบัติในโครงการนี้ 5 ประการ คือ
1. แสวงหาแนวทางให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เคารพกฎจราจร และมีมารยาท
2. ใช้รถจักรยานยนต์ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วแก้ปัญหาจุดที่รถติด เสมือน "รถนำขบวน" โดยรถจักรยานยนต์จะเข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้ขบวนรถเคลื่อนที่ไปได้
3. ใช้รถจักรยานยนต์ดูแลการจราจรบนถนน ให้รถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ ตามความเหมาะสม
4. ถนนที่เป็น "คอขวด" ให้รถจักรยานยนต์เข้าไปแก้ไขให้เคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ เสมือนเทน้ำออกจากขวด
5. ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการจราจร
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2536 โดย พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ และ พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผบช.น. (ทั้งหมดคือยศและตำแหน่งในขณะนั้น) สนองพระราชดำริทันที โดยการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จำนวน 150 นาย เข้ารับการอบรมความรู้เพิ่มเติมด้านการจราจรตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการประชาสัมพันธ์
กระทั่งวันที่ 6 กันยายน 2536 กรมตำรวจ (ในขณะนั้น) ได้ทำพิธีปล่อยแถวตำรวจจราจรตามโครงการพระราชดำริออกปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรกบนถนนพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต โดยใช้รถจักรยานยนต์ที่มีอยู่จัดเป็นกองร้อยพิเศษเคลื่อนที่เร็ว และใช้กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ถ.ศรีอยุธยา (ปัจจุบัน บช.น. ย้ายมาตั้งอยู่ที่วังปารุสกวัน) เป็นสถานที่ตั้งโครงการ จากนั้นมีการขยายผลการปฏิบัติออกไปยัง ถ.พญาไท ถึงสี่แยกปทุมวัน ถ.พระราม 1 ถึงสี่แยกราชประสงค์ ถ.ราชดำริถึงสี่แยกประตูน้ำ ถ.ราชปรารภถึงสามแยกดินแดง และ ถ.ราชดำเนิน-สะพานพระปิ่นเกล้าไปจนถึงหน้า สน.ตลิ่งชัน แต่ด้วยสภาพปัญหาการจราจรใน กทม. ที่มักมีน้ำท่วมขังหลังฝนตก ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง รถยนต์วิ่งไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงพระราชทานทรัพย์เพิ่มอีก 1 ล้านบาท ให้กองบังคับการตำรวจดับเพลิง(บก.ดพ.) นำไปซื้อรถยนต์และเครื่องสูบน้ำขนาดเล็กเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อสูบน้ำท่วมขังตามจุดต่างๆ
กระทั่งวันที่ 25 มกราคม 2537 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 10 ล้านบาท ไปมอบให้เพิ่มเติม โดยอนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ เป็นผู้อำนวยการโครงการพระราชดำริ นอกจากนี้ ยังพระราชทานรถจักรยานยนต์อีก 10 คัน และคูปองน้ำมันอีก 1 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทุกกรณี ตลอดจนนำหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน
กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในฐานะผู้รับสนองพระราชดำริ ได้จัด "สายตรวจจราจร" ปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการ และเพื่อให้การปฏิบัติตามแนวพระราชดำริมีความเหมาะสม และมีเอกภาพ ในการบังคับบัญชา จึงอนุมัติให้จัดตั้งกองกำกับการฝ่ายปฏิบัติการจราจรขึ้นตรงกับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ภายหลังมีการปรับโครงสร้างใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น กก.6 (ปฏิบัติการพิเศษ จราจร) บก.จร. โดยมีอัตรากำลังพล 329 นาย มีรถยนต์ 11 คัน รถจักรยานยนต์ 211 คัน
ตำรวจจราจรในพระราชดำริได้รับการฝึกอบรมในเรื่องการทำคลอดฉุกเฉิน, การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการซ่อมรถเบื้องต้น เพื่อให้บริการประชาชนในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน ไม่สามารถรับความช่วยเหลือทางอื่นใดได้ โดยที่ผ่านมา ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริปฏิบัติหน้าที่และทำการช่วยเหลือทั้งทำคลอดและนำหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล,การนำผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล รวมถึงการช่วยเหลือเกี่ยวกับรถยนต์อีกหลายครั้ง
การทำงานของตำรวจจราจรในโครงการพระราชดำริ แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่
1. โซนเหนือ ได้แก่พื้นที่ ดินแดง มะกะสัน พญาไท เพชรบุรี แยกพระรามเก้า และรามคำแหง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่างประจำอยู่ 7 นาย
2. โซนใต้ ได้แก่พื้นที่ ถนนพระราม 1 และถนนพระราม 4 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่างประจำอยู่ 4 นาย
3. โซนฝั่งธนบุรี ได้แก่พื้นที่ แยกบางพลัด ถนนสิรินธร ถนนบรมราชชนนี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่างประจำอยู่ 4 นาย
ช่องทางติดต่อ
สายด่วนบก. 02 หมายเลข 1197 หรือเบอร์โทรของโครงการ หมายเลข02-354-6324 ตำรวจจราจรในพระราชดำริ
อ้างอิง :
16 ส.ค. 2565
30 ส.ค. 2565
2 ส.ค. 2565
19 ก.ค. 2565