โครงการอ่าวลึก

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  12680 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการอ่าวลึก

พระมหากษัตริย์ผู้เป็น “ปราชญ์แห่งการพัฒนาพลังงาน”และ”พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย”
ที่คนไทยไม่เคยลืม"พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙
พลังงานชีวภาพ : พลังแห่งพระปรีชาญาณ
 
จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ริเริ่มและทดลอง เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีพลังงานทดแทนไว้ใช้ภายในภาคหน้า

ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ พวกเราชาวไทยก็อาจจะไม่มีพลังงานทดแทนใช้อย่างมั่นคงแบบทุกวันนี้
 
 
"...ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ใช้เชื้อเพลิงอย่างอืนได้ มีแต่ต้องขยัน หาวิธีที่ทำ
ให้เชื้อเพลิงเกิดใหม่เชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมันนั้น มันจะหมดภายในไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีก็หมด... ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทนเราก็เดือดร้อน...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548

 
 
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้มีการพัฒนา

โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนต่ำ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันรายย่อย 

มีโอกาสรวมกลุ่มก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบจำหน่าย ดังนั้น สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จึงได้จัดทำ

โครงการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ที่ อ.ปลายพระยา โดยได้

ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อพลังงานทดแทน โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบที่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต

น้ำมันไบโอดีเซล เพื่อให้ได้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์

สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน 



โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอ่าวลึก จ.กระบี่


โครงการหลวงและโครงการในพระราชดำริเกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

โดยทรงมุ่งเน้นให้ชาวบ้านมีพื้นที่ทำกินและมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสถานที่อันเป็นที่ตั้งของโครงการหลวงและโครงการในพระราชดำริส่วนใหญ่นั้นมีภูมิทัศน์สวยงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยคุณค่าน่าสนใจ
การเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการในพระราชดำริ นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมความงามของพื้นที่แล้ว ยังจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกรอย่างใกล้ชิด และยังได้กระจายรายได้ด้วยการเลือกซื้อผลิตผลที่สด สะอาด กลับมาอีกด้วย

 

ซึ่งในนิคมสหกรณ์อ่าวลึกมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ 3 โครงการหลักๆ คือ

  1. โครงการพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจร ในนิคมอ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  2. โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก
  3. โครงการน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซลของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกระบี่และสหกรณ์นิคมอ่าวลึก


1) โครงการพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจร ในนิคมอ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่

เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2530 ที่ทรงห่วงใยที่เกษตรกรในจังหวัดกระบี่ พากันทิ้งอาชีพทำนาข้าวหันมาปลูกปาล์มเป็นหลัก หากแหล่งปลูกข้าวในส่วนอื่นของประเทศเกิดปัญหาจะทำให้ชาวกระบี่ไม่มีข้าวบริโภค จึงทรงมีพระราชดำริให้เกษตรกรทำนาปลูกข้าวเพื่อบริโภคกันเองในสหกรณ์นิคม โดยให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อสร้างระบบชลประทาน สร้างอ่างเก็บน้ำ ส่งเสริมการปลูกข้าว และ สร้างโรงสีข้าวขนาดเล็กแบบครบวงจร ที่อำเภอปลายพระยา ซึ่งโรงสีดังกล่าวมีเครื่องสีข้าวขนาด 4.75 แรงม้า กำลังผลิต 200 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อชั่วโมง 1 เครื่อง และ เครื่องสีข้าวขนาด 10 แรงม้า กำลังผลิต 500 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อชั่วโมงอีก 1 เครื่อง ซึ่งในปีที่ผ่านมาจังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกคือ พันธุ์ข้าวไร่ พันธุ์ดอกพะยอม และพันธุ์ดอกข่า

“...ข้าวต้องปลูก เพราะอีก ๒๐ ปี ประชากรอาจจะ ๘๐ ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทย จะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก...”

พระราชดํารัส พระบาทสมเดจ็ พระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จ พระราชดําเนิน ทอดพระเนตร โครงการโคกกูแว จังหวัดนราธิวาส พ.ศ. ๒๕๓๖

 

ป้ายโครงการฯ เมื่อแรกเริ่มโครงการฯ(ภาพเก่า) 

โครงการพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจรในนิคมอ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เรื่องเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริกับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี และนายผาสุข กุลละวณิชย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ความว่าเนื่องจากเกษตรกรในภาคใต้ที่ทำสวนยางและสวนปาล์ม มักจะมีเวลาว่างมาก ควรหางานอย่างอื่นทำเพื่อเพิ่มรายได้ไปด้วย สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือ ส่งเสริมให้ทุกท้องที่สามารถปลูกข้าวได้ โดยปลูกเพื่อบริโภคภายในท้องถิ่น จะได้มีข้าวบริโภคยามขาดแคลน ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการดำเนินโครงการสนองพระราชดำริ ส่งเสริมให้เกษตรกรบริเวณสหกรณ์นิคมอ่าวลึก ปลูกข้าวไว้เพื่อการบริโภคในท้องถิ่นติดต่อกันมาระหว่างปี 2531 และ 2532 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโรงสีข้าว ขนาดเล็ก 1 โรง ให้กับเกษตรกรในสหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เพื่อให้ดำเนินการสีข้าวให้มีคุณภาพ

นาข้าวและโรงสีข้าวเมื่อแรกเริ่มโครงการฯ

ในพื้นที่นิคมสหกรณ์อ่าวลึก จ.กระบี่ ส่วนใหญ่สมาชิกใช้พื้นที่สำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน ดังนั้นพื้นที่ทำนาจึงลดลงทำให้ผลผลิตข้าวในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึกไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ จึงต้องซื้อข้าวที่ผลิตได้จากท้องถิ่นอื่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ในวโรกาสที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะผู้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าของโครงการฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ ในการจัดทำโครงการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจรขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกรวมกลุ่มทำการผลิตข้าวโดยใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ซึ่งทำให้สามารถผลิตข้าวได้อย่างต่อเนื่องในรูปของธนาคารข้าวและโรงสีขนาดเล็กครบวงจร
          
จากพระราชดำรัสดังกล่าว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นหน่วยประสานงาน จึงได้ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ คือ กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักที่จะดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้เกษตรในพื้นที่เขตสหกรณ์นิคมปากน้ำ จำกัด ทำการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจร

คลองส่งน้ำสำหรับพื้นที่บริเวณโดยรอบโครงการฯ

 


โครงการโรงสีข้าวพระราชทาน ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานไว้ เมื่อปี พ.ศ.2530 ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 บ้านปากน้ำ ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ปัจจุบันได้มีการบริหารจัดการ โดยกลุ่มของคณะกรรมการสหกรณ์นิคมปากน้ำ มีเครื่องสีข้าวพระราชทาน 3 เครื่อง เปิดให้บริการทั้งสมาชิก และบุคคลทั่วไปได้มาใช้บริการในราคาถูกกว่าโรงสีของเอกชนในราคา 2.50 บาท ต่อกิโลกรัม 


ผลการดำเนินงาน

     1. สำรวจข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ

     2. จัดทำแปลงพัฒนาการปลูกข้าว

     3. ดำเนินการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ อาทิเช่น เครื่องนวดข้าว เครื่องลดความชื้น และยุ้งฉาง 

 ประโยชน์ที่ได้รับ

     1. เพื่อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์สำคัญเพิ่มเติม สำหรับใช้ในการดำเนินงานโรงสีข้าว ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

     2. เพื่อศึกษาทดสอบพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมในพื้นที่โครงการ

ที่ตั้งโครงการ 

บ้านปากน้ำ ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่

 

 ที่มาของข้อมูล : โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกระบี่ กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดกระบี่ , หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 กรกฎาคม 2552

และ http://oknation.nationtv.tv/blog/saiyai21/2011/02/18/entry-1

 

2) โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก

เป็นโรงงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2529 โดยใช้ระบบทอดภายใต้สุญญากาศ ซึ่งไม่มีน้ำเสียจากการผลิต และนวัตกรรมดังกล่าวเคยได้รับรางวัลชมเชยสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติในปี 2536 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จนในปี 2543 ได้มีพระกระแสรับสั่งให้ค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเพื่อผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มดิบ ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาจนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จากที่ผลิตได้เพียง 2 ตันทะลายต่อวัน เมื่อปี 2529 มาเป็น 3 ตันทลายต่อชั่วโมง หรือปีละ 2 ล้านกิโลกรัม สามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้ปีละ 6 แสนกิโลกรัม และ ได้ไบโอดีเซล 400 ลิตรต่อวัน ได้กำไรจากการผลิต 1.2-1.5 ล้าน บาทต่อปี

 

ย้อนอดีตไปเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2518 หรือเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์ อดีตเลขานุการคณะวิศวฯ มอ. ได้ชักชวนพวกเราซึ่งเป็นอาจารย์ใหม่ ไปเยี่ยมชมนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ กิ่งอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ซึ่งได้นำเอาปาล์มน้ำมัน พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของภาคใต้ที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมาปลูกโดยทางนิคมฯได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และได้ขอให้พวกเราช่วยประกอบเครื่องหีบน้ำมันปาล์มแบบไฮโดรลิคส์ที่สั่งซื้อมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และทางนิคมประกอบไม่เป็นซึ่งพวกเราก็อาสาไปดำเนินการให้ จำได้ว่าผมเป็นผู้นำทีมอาจารย์และครูจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการประมาณ 6 คน ไปประกอบเครื่องหีบไฮโดรลิคส์ตั้งแต่ช่วงบ่ายจนไปถึงรุ่งเช้าของอีกวันหนึ่ง จึงได้ประกอบเสร็จและทดสอบใช้งานได้ผลเป็นที่เรียบร้อย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม


รองศาสตราจารย์ ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2518 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ นิคมควนกาหลง จังหวัดสตูล เพื่อทอดพระเนตรโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก และ สวนปาล์มที่ทางนิคมได้ปลูกไว้ตั้งแต่ ปี 2511 โดย อาจารย์สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล ได้เป็นหนึ่งในคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย ที่ได้เข้าไปประกอบและติดตั้งเครื่องหีบน้ำมันปาล์มแบบไฮดรอลิกที่นิคมควนกาหลงที่สั่งซื้อมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้เฝ้ารับเสด็จด้วยรับสั่งถามว่า “มาจากไหน”
กราบบังคมทูลว่า “เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พะยะค่ะ”
ทรงถามต่อว่า “แล้วมาทำอะไรอยู่ที่ควนกาหลง”
กราบบังคมทูลว่า “เขาให้มาตั้งเครื่องจักรสกัดน้ำมันปาล์ม”
รับสั่งถามว่า “เครื่องนี้เราสร้างเองในประเทศได้ไหม”
กราบบังคมทูลว่า “สร้างได้พะยะค่ะ”
รับสั่งต่อว่า “งั้นฉันให้เป็นการบ้านเลยนะ ปีหน้าจะตามมาดู”


จากนั้นอีกไม่ถึงเดือน ทางนิคมฯ ก็ติดต่อมาให้พวกเราไปร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จมาทอดพระเนตรสวนปาล์มน้ำมันที่นิคมฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2518 โดยพวกเรามีหน้าที่ถวายการสาธิตเครื่องหีบน้ำมันปาล์มซึ่งในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พวกเราลองออกแบบและสร้างเครื่องจักรสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กให้ครบกระบวนการโดยไม่ต้องจัดซื้อมาจากต่างประเทศ นี่คือจุดเริ่มต้นของคณะวิศวฯ มอ. ที่ได้มีโอกาสดำเนินการสนองพระราชดำริเกี่ยวกับการแปรรูปปาล์มน้ำมันมาจนถึงการผลิตไบโอดีเซลในปัจจุบัน

วันที่ 22 กันยายน 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังนิคมฯแห่งนี้อีก เพื่อทรงติดตามงาน ซึ่งพวกเราก็ได้เข้าเฝ้าถวายการสาธิตเครื่องจักรและอุปกรณ์สกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่ได้ออกแบบและสร้างเตรียมไว้แล้ว ซึ่งในวันดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงซักถามข้อมูลเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน และการนำน้ำมันปาล์มและน้ำมันเมล็ดในปาล์มไปใช้อุปโภคบริโภคตลอดจนทำน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างละเอียดถี่ถ้วน

  

ผลการดำเนินงาน
จากปี 2519 เป็นต้นมา การปลูกปาล์มน้ำมันในภาคใต้ก็เริ่มขยายตัวแพร่หลายมากขึ้น และส่วนใหญ่จะเป็นสวนปาล์มขนาดเล็กของเกษตรกรในนิคมสร้างตนเอง และนิคมสหกรณ์ต่างๆ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้คณะวิศวฯ มอ. ทำการออกแบบและพัฒนาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กสำหรับกลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มรายย่อย โดยมี ผศ.ดร. ผาสุข กุลละวณิชย์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ และได้ดำเนินการสนองพระราชดำริในปี 2527-2528 โดยเลือกใช้ระบบการทอดผลปาล์มแทนการอบด้วยไอน้ำ ซึ่งจะไม่มีน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงงานสาธิตที่คณะวิศวฯ มอ. และทรงมีพระราชดำริให้ไปจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กให้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ก็ได้ทำการสร้างโรงงานทดสอบขึ้นที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และต่อมาก็มีการวิจัยพัฒนาปรับปรุงโรงงานมาโดยลำดับ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 ก็ได้คิดประดิษฐ์กระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มด้วยวิธีการทอดผลปาล์มภายใต้สภาพสุญญากาศเป็นผลสำเร็จ จนได้รับรางวัลชมเชยสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติประจำปี 2536

 

 หลังจากนั้น คณะวิศวฯ มอ.ก็ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เช่น สร้างโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มขึ้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาสในปี 2533 สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มระบบทอดสุญญากาศขนาด 1 ตันทะลายต่อชั่วโมง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ในปี 2540 และสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาด 2 ตันทะลายต่อชั่วโมงที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ในปี 2545 ทำการทดสอบการสึกหรอของเครื่องจักรกลการเกษตรโดยใช้น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ และเมทิลเอสเตอร์ในปี 2544 สร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาด 1,000 ลิตร ขึ้นที่ คณะวิศวฯ มอ. ในปี 2545 และได้จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย โรงงานอุตสาหกรรมและบุคคลทั่วไปแล้วกว่า 800,000 ลิตร สร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาด 400 ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาสในปี 2546 และขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก 1,000 ลิตร ในปี 2549 เพื่อจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลให้กลุ่มเรือประมงขนาดเล็ก สนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เนื่องจากน้ำมันไบโอดีเซลเป็นที่ชื่นชอบของชาวประมงมาก เพราะเครื่องยนต์สตาร์ทติดง่าย มีเขม่าควันน้อยมาก และมีกลิ่นหอมคล้ายน้ำมันทอด

 

วันที่ 16 กรกฎาคม 2548 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะวิจัยจากคณะวิศวฯ มอ. เข้าเฝ้าเป็นการเร่งด่วนที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาทำการปลูกปาล์มน้ำ มันและสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและผลิตไบโอดีเซลระดับชุมชน ที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการเร่งด่วน ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณในเดือน มกราคม 2549 หน่วยงานต่างๆ ก็ดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยคณะวิศวฯ มอ. รับผิดชอบการออกแบบและสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและผลิตไบโอดีเซลขนาด 400 ลิตรต่อวัน ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2549 ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการกดปุ่มเครื่องจักรและทรงเติมน้ำมันไบโอดีเซลเป็นปฐมฤกษ์ด้วย ได้เสด็จมาทอดพระเนตรโรงงานผลิต ไบโอดีเซลที่คณะวิศวฯ มอ. และได้ทรงเติมน้ำมันไบโอดีเซลให้กับรถสองแถวที่เป็นลูกค้าประจำจำนวน 10 ลิตร ซึ่งยังความปลาบปลื้มให้กับคณาจารย์ ข้าราชการของคณะวิศวฯ มอ. และลูกค้าที่เติมน้ำมันอย่างหาที่สุดมิได้

 

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลที่ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้กล่าวถวายรายงานถึงประวัติความเป็นมาของโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซล ว่า จังหวัดกระบี่ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดของประเทศไทย โดยมีพื้นที่ปลูกปาล์มทั้งหมด 898,413 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 2.15 ล้านตัน/ปี คิดเป็น ร้อยละ 28.5 ของประเทศ มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 18 โรง กำลังการผลิตรวม 614 ตันทะลายปาล์มสด/ชั่วโมง ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตได้ทั้งปี จำนวน 3.9 แสนตัน (ที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18%)

จึงได้นำเสนอแนวความคิดให้จังหวัดกระบี่เป็นเมืองแห่งปาล์มน้ำมันและเมืองแห่งพลังงานทดแทน ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2549 ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ประกอบกับในปัจจุบันสภาวะปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

บทสรุป
          จากพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงมองเหตุการณ์ไปไกลเกินกว่าที่ใครจะนึกถึงตั้งแต่เมื่อ 31 ปีก่อน ทำให้คณาจารย์และข้าราชการของคณะวิศวฯ มอ. ได้มีโอกาสจัดทำโครงการสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มสนองพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และมีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรและอุปกรณ์หลายรายการ เช่น ระบบการทอดผลปาล์มภายใต้สภาพสุญญากาศซึ่งไม่มีน้ำเสีย เครื่องแยกผลปาล์มออกจากทะลายปาล์มสด เครื่องทำเนยเทียมขนาดเล็ก เป็นต้น และในปี พ.ศ. 2549 ก็ได้รับโอกาสอันเป็นเกียรติสูงสุดจากมูลนิธิชัยพัฒนาให้เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบสร้างและติดตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและผลิต ไบโอดีเซลระดับชุมชนสนองพระราชดำริ ที่อำเภอหัวหินซึ่งได้ดำเนินการเสร็จไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 และนอกจากนั้นทางมูลนิธิชัยพัฒนาก็ได้อนุมัติทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างต่อเนื่องให้กับทางคณะวิศวฯ มอ. ด้านการทดสอบเครื่องยนต์ และการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตไบโอดีเซลอีกด้วย 

คณะผู้วิจัยและผู้บริหารของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทุกคนมีความมุ่งมั่นและขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะทุ่มเททั้งสติปัญญาตลอดจนความรู้และความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อดำเนินการโครงการแปรรูปปาล์มน้ำมัน และผลิตไบโอดีเซลสนองพระราชดำริให้เป็นผลสำเร็จตลอดไป

 

ที่ตั้งโครงการ สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด เลขที่ 62 หมู่ที่ 3 ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่

ที่มา : http://www.biodiesel.eng.psu.ac.th/factory.php

  

3) โครงการน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซลของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกระบี่และสหกรณ์นิคมอ่าวลึก

         นับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของประชาชนชาวไทย ที่ได้เกิดและอาศัยอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาและพระปรีชาสามารถ พระวิสัยทัศน์ด้านพลังงานทดแทนที่ทรงเริ่มต้นศึกษาวิจัยขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันประชาชนชาวไทยได้มีทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทนที่คนไทยสามารถผลิตได้เอง สามารถลดปริมาณการนำเข้าได้เป็นจำนวนมาก

         โรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร ในพื้นที่โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องการศึกษาการนำปาล์มน้ำมันไปใช้แปรรูปเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งทรงให้ความสนพระทัยมาตั้งแต่ปี 2518 จากการที่ได้ทอดพระเนตรสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรที่นิคมสร้างตนเองควนกาหลง จังหวัดสตูล จากนั้นพระราชทานพระราชกระแสให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สร้างโรงงานสาธิตสกัดน้ำมันปาล์มที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส 

 
          ในช่วงกลางสมัย พ.ศ.2528 – 2543 นับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของประชาชนชาวไทย ที่ได้เกิดและอาศัยอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์ด้านพลังงานทดแทนที่ทรงเริ่มต้นศึกษาวิจัยขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีราคาไม่สูง พระองค์ท่านได้ริเริ่มทำการศึกษาวิจัยเชื้อเพลิงเอทานอลภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การทดลองปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดนำมาทำแอลกอฮอล์ นอกจากอ้อยที่ผลิตได้ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแล้ว ยังออกไปรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอีกด้วย โรงงานในสวนจิตรฯ มีทั้งเครื่องหีบอ้อย ถังหมัก หอกลั่นขนาดเล็ก เริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ.2529 สามารถผลิตแอลกอฮอล์ 91 เปอร์เซ็นต์ได้ในอัตรา 2.8 ลิตรต่อชั่วโมง และเมื่อปี พ.ศ.2537 ได้ขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอผสมกับน้ำมันเบนซิน 91 ในอัตรา 1 : 9 ได้เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เพียงพอสำหรับการเติมให้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา


     ส่วนในด้าน “ไบโอดีเซล” นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2526 ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดจิ๋วที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ.กระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก กำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากรพระราชดำริ จ.นราธิวาส ในปี พ.ศ.2531

     ต่อมาทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างโรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์มขนาดเล็กครบวงจร จนกระทั่งในปี พ.ศ.2543 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาและกองงานส่วนพระองค์ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ต่อยอดนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จากการทดสอบพบว่า น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ

     จากผลความสำเร็จดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี อำพล เสนาณรงค์ เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล” และปีเดียวกันนั้นสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อัญเชิญผลงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จำนวน 3 ผลงาน คือ ทฤษฏีใหม่ โครงการฝนหลวง และโครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2001” ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยโครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ได้รับเหรียญทองประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณพร้อมถ้วยรางวัล

พระอัจฉริยภาพของพระองค์ไม่เพียงประจักษ์ในหมู่พสกนิกรชาวไทยเท่านั้น แต่ยังขจรขจายไปในเวทีนานาชาติอีกด้วย อีกคราวหนึ่งเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน จ.นครนายก ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2544 รถยนต์พระที่นั่งติดสติ๊กเกอร์ท้ายรถโตโยต้าพระที่นั่งว่า “รถคันนี้ใช้น้ำมันปาล์ม 100%” ด้วยพระปรีชาญาณนี้เอง ทำให้ปัจจุบันชาวไทยได้มีทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทนที่สามารถผลิตได้เอง สามารถลดปริมาณการนำเข้าได้เป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นคุณเอนกอนันต์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก
 
 
 
"เรืออังสนา" พระราขพาหนะทางชลมารค
 
เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งเมื่อพสกนิกรชาวไทยจะได้เฝ้ารับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค เพื่อไปเปิดเขื่อน และโครงการชลประทาน 5 แห่ง บริเวณท่าเรือกรมชลประทาน ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 โดยเรือที่ใช้เป็นพระราชพาหนะในครั้งนี้คือ เรืออังสนา ลำเดียวกับที่เคยใช้เมื่อครั้งเสด็จเปิดคลองลัดโพธิ์ ที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554

นอกจากนี้ หลายต่อหลายคนอาจรู้จักกับเรือพระที่นั่งที่ชื่อ “เรืออังสนา” เรือรับรองพิเศษของกองทัพเรือ ในการเสด็จฯ ทางชลมารคทรงทำพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิยายน 2553 และครั้งนั้น ถือเป็นการเดินทางชลมารคครั้งสุดท้ายของพระองค์ท่าน เรืออังสนา อันหมายถึง ดอกประดู่ ก่อนหน้านี้ได้ถูกใช้เพื่อการรับรองพระราชอาคันตุกะ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2550 กรมอู่ทหารเรือ ร่วมกับ ปตท. ทดลองใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี100 ซึ่งผลิตจากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ทดลองใช้งานอยู่ 3 ปี ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้ถูกนำมาใช้เป็นเรือพระที่นั่งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ดังกล่าว จึงนับเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่งที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซล 100%

ทั้งหมดนี้ ภายหลังจากที่กระทรวงพลังงานจัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2545 กระทรวงพลังงานจึงได้น้อมนำแนวทางการพัฒนาเรื่อง “เชื้อเพลิงชีวภาพ” ทั้งเอทานอล และไบโอดีเซล ขยายผลเชิงนโยบายจนปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า “เชื้อเพลิงชีวภาพ” เป็นหนึ่งในเสาหลักของการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไปเรียบร้อยแล้ว
 
 
 
“ไบโอดีเซล” จากปาล์มประกอบอาหารสู่เชื้อเพลิงเครื่องยนต์

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนผ่านโครงการส่วนพระองค์มาตั้งแต่ปี 2522 โดยมีโครงการผลิตแก๊สชีวภาพ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลจากปาล์ม ซึ่งในส่วนของพระราชดำริด้านการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลนั้น การพัฒนาไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในชื่อ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” ได้จดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2544
 
 


อีกทั้งในปี 2546 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลจาก “โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ในงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทั้งนี้ปาล์มเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่ปลูกสูง อีกทั้งเกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ภายในประเทศ ซึ่งจะใช้ทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้

 
 
 
ในหลวงราชกาลที่ 9 กับต้นแบบการผลิตไบโอดีเซล
น้ำมันไบโอดีเซลเกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงราชกาลที่ 9 เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ได้ทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมันในอนาคต จึงได้ทรงดำริให้โครงการส่วนพระองค์จิตรลดาร่วมดำเนินการวิจัยกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษาหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยทรงมีพระราชดำริให้นำพืชผลการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นพลังงานทดแทน เพื่อให้คนไทยได้พึ่งตัวเองได้ในด้านพลังงาน รวมทั้งรองรับปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำที่อาจเกิดขึ้นด้วย

โครงการไบโอดีเซลเริ่มขึ้นในปี พ. ศ. 2528 โดยทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กขึ้นที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ. กระบี่ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็กกำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ จ. นราธิวาส ต่อมาในปี พ. ศ. 2543 ทรงมีกระแสรับสั่งให้ทดลองน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ผลิตได้มาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล โดยใช้กับรถยนต์ของกองงานส่วนพระองค์ที่วังไกลกังวล อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ พบว่าไม่มีผลเสียกับเครื่องยนต์และสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงกับเครื่องยนต์ดีเซลได้ โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ หรือหากต้องการก็อาจจะใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วนน้อยที่สุด คือ 0. 01% ชั้น ไปจนถึงมาก คือ 99. 99% ก็ได้

ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงจดสิทธิบัตรการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว

ภาพตัวอย่างแสดงการสังเคราะห์น้ำมันไบโอดีเซล (จากโครงการพระราชดำริในหลวงราชกาลที่ 9)
 
 
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
ทั้งนี้จะเอาเฉพาะที่นิยมใช้ในการผลิตในประเทศไทยเป็นหลัก

ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชน้ำมันที่นิยมใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยขณะนี้ เนื่องจากเป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น คือ มีต้นทุนการผลิตต่ำให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง โดยปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตน้ำมันต่อไร่สูงกว่าเมล็ดเรฟ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลในประเทศแถบยุโรปถึง 5 เท่า และสูงกว่าถั่วเหลืองที่ใช้กันมากในสหรัฐอเมริกาถึง 10 เท่า
น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว สำหรับประเทศไทยมีการบริโภคน้ำมันพืชกว่า 800,000 ตันต่อปี ประเมินกันว่าน่าจะมีน้ำมันพืชใช้แล้วเหลือมากกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งนำไปใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบในการผลิตสบู่ หรือใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์ ขณะที่บางส่วนถูกทิ้งออกสู่คูคลองสาธารณะซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
สบู่ดำ เป็นพืชน้ำมันอย่างหนึ่งที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ปลูกเป็นวัตถุดิบในการผลิต ไบโอดีเซลชุมชน เนื่องจากเป็นพืชที่เพาะปลูกง่ายไม่ต้องดูแลมาก น้ำมันสบู่ดำที่สกัดได้จะสามารถนำไปใช้กับเครื่องจักร กลทางการเกษตรที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้ เช่น เครื่องปั่นไฟ รถอีแต๋น รถแทรกเตอร์ สามารถใช้เครื่องสูบน้ำได้โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ แต่มีปัญหาด้านคุณภาพบางประการ อาทิ ค่าความหนืดที่สูงกว่าน้ำมันดีเซลถึง10 เท่า ทำให้ไม่สามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบสูงทั่วไปได้ จำเป็นต้องนำไปผ่านกระบวนการ Transesterification แปลงเป็นไบโอดีเซล ( B 100 ) ก่อนนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลปกติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ยังมีวัตถุดิบอื่นๆ ที่สามารถนำมาผลิตไบโอดีเซลได้อีก แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้ในการผลิตในประเทศไทย เช่น น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันดอกทานตะวัน, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันถั่วลิสง,น้ำมันละหุ่ง, น้ำมันงาและน้ำมันแรพซีด เป็นต้น

ข้อดีของน้ำมันไบโอดีเซล
สถาบันวิจัยเทคโนโลยีพลังงานของปตท. ที่ อ. วังน้อย จ. อยุธยา เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในระดับห้องปฏิบัติการซึ่งพบว่าสารพิษในไอเสียจากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลมีน้อยกว่ากรณีใช้น้ำมันดีเซล เช่น ปริมาณควันดำต่ำกว่ารวมทั้งปริมาณคาร์บอนมอนนอกไซด์ ฝุ่นขนาดเล็กน้อยกว่า และน้ำมันไบโอดีเซลไม่มีสารกำมะถันที่ทำให้เกิดฝนกรดจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาก
 
ตารางเปรียบเทียบข้อดีของการใช้ไบโอดีเซลเทียบกับน้ำมันดีเซล
 
 
 
" ที่จริงเมื่อ ๒ ปีก็ทำไบโอดีเซลใช้น้ำมันปาล์ม ๑๐๐% ไม่ใช่เพียงน้ำมันปาล์ม ๑๐๐% นายกฯ ได้เห็นรถแล่นมาน้ำมันปาล์ม ๑๐๐% เรายืนอยู่ที่รถคันหนึ่งแล้วก็เสร็จ แล้วก็มีรถอีกคันหนึ่งถอยหลังมาได้ยินเสียงบึม ๆ ๆ นั้นอะไร รถดีเซล รถใช้น้ำมันดีเซล ๑๐๐% ๑๐๐% น้ำมันปาล์ม แล้วนายกฯ ก็บอกว่าหอมดี แล้วก็ถามว่าหอมดี แล้วไม่เดือดร้อนเพราะว่านายกฯ ไม่ต้องกลัวเป็น CANCER เพราะว่าไอ้นี่ไม่เป็นมะเร็ง เราทำแล้วก็ หมายความว่าเราไม่เดือดร้อนถึงเวลาเราอายุ ๑๑๘ ถ้าอย่างไรเราก็ใช้น้ำมันปาล์มของเราเอง คนอื่นอาจจะไม่มีแต่ว่าเรามี เพราะเราขวนขวายหาวิธีที่จะทำเชื้อเพลิงทดแทนได้ ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทนเราก็เดือดร้อนแล้วก็เป็นห่วง แต่เราไม่ต้องเป็นห่วงถ้าคนอื่นเขาไม่ทำเขาอาจจะไม่มีน้ำมันไบโอดีเซลใช้ แต่ว่าเรามี เราคือข้าพเจ้าทำเอง คนอื่นเขาอาจจะไม่มีก็ไม่เป็นไร เราต้องเห็นแก่ตัว แต่ละคนถ้าเห็นแก่ตัวก็รู้ว่าไม่เป็นไร เพราะแต่ละคนก็ต้องพยายามที่จะหาพลังงานทดแทนทั้งนั้น "
 
พระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ ศาลาดุสิตาลัยพระตำหนักสวนจิตรลดา
 
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2544 รถยนต์พระที่นั่งติดสติ๊กเกอร์ท้ายรถว่า "รถคันนี้ใช้น้ำมันปาล์ม 100%"
 
 
ไบโอดีเซลคืออะไร
         ไบโอดีเซล (Biodiesel) คือ น้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ รวมทั้งน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหารนำมาทำปฏิกิรยาทางเคมีกับแอลกอฮอล์ เรียกอีกอย่างว่าสารเอสเตอร์ มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลมาก และในกระบวนการผลิตยังได้กลีเซอรอลเป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์อีกด้วย

 


วัตถุดิบสำหรับการผลิตไบโอดีเซล
         ได้แก่น้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ทุกชนิด แต่การนำพืชน้ำมันชนิดใดมาทำเป็นไบโอดีเซลนั้น แตกต่างกันไปตามลักษณะสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาทำจากถั่วเหลืองซึ่งปลูกเป็นจำนวนมาก ส่วนในประเทศแถบยุโรป ทำจากเมล็ดเรพและเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น
 
ปาล์มน้ำมัน                                                                                สบู่ดำ


สำหรับในประเทศไทยผลิตไบโอดีเซลจากมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน โดยผลการวิจัยในปัจจุบันพบว่าปาล์มคือพืชที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้ทำไบโอดีเซล เพราะเป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น จากการที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตน้ำมันต่อไร่สูงกว่าเมล็ดเรพซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลในประเทศแถบยุโรปถึง ๕ เท่า และสูงกว่าถั่วเหลืองที่ใช้กันมากในสหรัฐอเมริกาถึง ๑๐ เท่า

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารจากประเทศญี่ปุ่นที่มาเข้าเฝ้าฯเรื่องเมล็ดสบู่ดำ ว่าน่าจะมีคุณสมบัติบางอย่างดีกว่าน้ำมันปาล์มในการทำ ไบโอดีเซล เพราะต้นสบู่ดำเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปาล์มน้ำมัน และสามารถเก็บผลผลิตได้หลังจากปลูกไม่เกิน ๑ ปี นอกจากนั้นสบู่ดำยังไม่เป็นอาหารของมนุษย์หรือสัตว์ แม้จะมีข้อเสียเรื่องพิษของเมล็ดสบู่ดำที่อาจเกิดขึ้นแก่มนุษย์ได้หากรับประทานหรือสัมผัส

บริษัท โตโยต้าฯจึงร่วมกับหลายหน่วยงาน อันได้แก่ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Toyota Technical Center Asia-Pacific จัดทำโครงการวิจัยเรื่องเมล็ดสบู่ดำ

ทั้งนี้จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ต้นสบู่ดำขยายพันธุ์ง่ายและมีอายุยืนกว่าต้นปาล์ม โดยมีอายุยืนถึง ๕๐ ปี และเริ่มเก็บผลผลิตได้เมื่ออายุ ๕-๘ เดือน สำหรับโครงการวิจัยในขั้นต่อไปจะเป็นการศึกษาแบบครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยเมล็ดพันธุ์ที่ให้น้ำมันสูงสุด การปลูก แมลงที่เป็นศัตรูพืชและเป็นประโยชน์ การเก็บเมล็ด การสกัดน้ำมัน การทดสอบกับเครื่องยนต์ รวมทั้งการศึกษาเรื่องต้นทุนการผลิตด้วย

นอกจากพืชดังกล่าวมาแล้ว น้ำมันพืชใช้แล้วก็สามารถนำมาทำไบโอดีเซลได้เช่นกัน และน้ำมันพืชใช้แล้วก็เป็นวัตถุดิบอีกชนิดหนึ่งที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาใช้ผลิตไบโอดีเซลมาเนิ่นนานแล้ว โดยนำน้ำมันเหลือใช้จากห้องเครื่องมาทำเป็นไบโอดีเซล

ปัจจุบัน บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก็เริ่มรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วไปทำเป็นไบโอดีเซลเช่นกัน


หลักการผลิตไบโอดีเซล
วัตถุดิบที่มีศักยภาพในการผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยได้แก่ น้ำมันพืชใช้แล้วและพืชน้ำมัน โดยนำมาผสมกับเมทานอลหรือเอทานอล จะได้เมทิลเอสเตอร์หรือเอทิลเอสเตอร์ ซึ่งก็คือไบโอดีเซล และได้กลีเซอรอลเป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมและเครื่องสำอางอีกด้วย

ขั้นตอนในการผลิตไบโอดีเซลในเชิงพาณิชย์
นำพืชน้ำมัน เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สบู่ดำ ละหุ่ง ฯลฯ ไปผ่านกระบวนการบีบหรือสกัดด้วยตัวทำละลายทำให้ได้น้ำมันพืช หลังจากนั้นผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ นำไปผ่านกระบวนการ transesterification ด้วยการเติมสารตระกูลแอลกอฮอล์ จะได้เป็นไบโอดีเซล
 
ภาพแสดงกระบวนการผลิตไบโอดีเซลขนาดกำลังการผลิต 1,000 ลิตรต่อวัน

1. การเตรียมน้ำมันก่อนทำปฏิกิริยา
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจะถูกเตรียมให้เหมาะสมก่อนเข้าทำปฏิกิริยา โดยหากเป็นน้ำมันปาล์มดิบจำเป็นต้องผ่านกระบวนการแยกยางเหนียว และลดกรดให้มีปริมาณกรดไขมันอิสระต่ำกว่าร้อยละ 1 โดยน้ำหนัก ส่วนวัตถุดิบจากน้ำมันที่ใช้ทอดแล้วจะถูกนำมากรองแล้วจึงนำไปขจัดน้ำออก [ การวิเคราะห์กรดไขมันอิสระ ]

2. การเตรียมสารละลายแอลกอฮอล์
ปฏิกิริยาทรานส์เอสเตอริฟิเคชั่น โดยใช้เมทานอลที่มีโซเดียมไฮดรอกไซด์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งถูกเลือกใช้เพราะมีราคาถูก โดยเมทานอลต้องไม่มีน้ำเจือปนเกินกว่า 1% การเตรียมสารละลายกระทำโดยการนำโซเดียมไฮดรอกไซด์ 2.5 - 5 ส่วน ละลายในเมทานอล 100 ส่วนโดยน้ำหนัก ปริมาณโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ใช้เตรียมเป็นไปตามปริมาณกรดไขมันอิสระที่มีอยู่ในวัตถุดิบ หากกรดไขมันอิสระมีปริมาณสูงก็ต้องใช้โซดาไฟในสัดส่วนที่สูงขึ้น

3. การทำปฏิกิริยา
น้ำมันที่ถูกขจัดน้ำแล้วถูกทำให้มีอุณหภูมิประมาณ 80 oC จากนั้นจึงเติมสารละลายแอลกอฮอล์ลงไปอย่างช้าๆ (เติมให้หมดภายใน 10 นาที) สัดส่วนน้ำมันต่อสารละลายแอลกอฮอล์โดยน้ำหนักเท่ากับ 5 ต่อ 1 ทำการกวนเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างทั่วถึงเป็นเวลาประมาณ 15 นาที ด้วยอัตราการกวนปานกลาง (500 รอบ/นาที) อุณหภูมิในช่วงนี้ลดลงเหลือประมาณ 65 oC การเกิดปฏิกิริยาจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้เมทิลเอสเตอร์และกลีเซอรีน แต่ปฏิกิริยานี้ผันกลับได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหยุดกวนเพื่อแยกผลผลิตตัวใดตัวหนึ่งออก เมื่อหยุดกวนกลีเซอรีนซึ่งมีความหนาแน่นสูงกว่า (ประมาณ 1.26 กรัม/มิลลิลิตร) จะแยกชั้นออกจากชั้นเมทิลเอสเตอร์ โดยแยกตัวตกลงมาที่ก้นถัง ดังนั้นในชั้นเมทิลเอสเตอร์จะเหลือกลีเซอรีนอยู่น้อย ปฏิกิริยาการเกิดเมทิลเอสเตอร์จะสามารถดำเนินต่อไปอย่างช้าๆ เมื่อทิ้งให้เกิดปฏิกิริยาเป็นเวลา 3 - 4 ชั่วโมง น้ำมันก็จะทำปฏิกิริยาไปมากกว่า 95%

4. การแยกกลีเซอรีน
กลีเซอรีนจะถูกถ่ายออกใส่ภาชนะโดยการถ่ายออกทางด้านล่างของถังปฏิกรณ์ ในขณะที่ยังร้อนอยู่เพราะหากทิ้งไว้ให้เย็น ชั้นกลีเซอรีนจะกลายเป็นของแข็ง

5. การล้างสิ่งปนเปื้อนออก
เมทิลเอสเตอร์ที่ได้ยังปนเปื้อนด้วยสารอื่นๆ เช่น สบู่ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างโซเดียมไฮดรอกไซด์และกรดไขมันอิสระหรือน้ำมัน กลีเซอรีนที่ละลายอยู่ในชั้นเมทิลเอสเตอร์ โซเดียมไฮดรอกไซด์ เมทานอลที่เหลือจากการทำปฏิกิริยาและน้ำมันที่ทำปฏิกิริยาไม่หมด ดังนั้นจึงต้องทำการขจัดออกด้วยการล้างด้วยน้ำอุ่นหลายๆครั้ง ปริมาณน้ำที่ใช้แต่ละครั้งประมาณ 1 ต่อ 4 ของปริมาณเมทิลเอสเตอร์ เมื่อเติมน้ำเพียงพอแล้วรอให้น้ำแยกชั้นจากเมทิล-เอสเตอร์เป็นเวลาพอสมควร (ประมาณ 5 - 10 นาที) ก็ถ่ายน้ำออกด้านล่าง เติมน้ำอุ่นเพื่อล้างใหม่ การล้างจะกระทำ 4 - 5 ครั้ง และเพิ่มการกวนในการล้างครั้งหลังๆ

6. การขจัดน้ำออกขั้นสุดท้าย
เมื่อล้างสิ่งปนเปื้อนออกหมดแล้ว ขั้นตอนสุดท้าย คือ การขจัดน้ำที่หลงเหลือในชั้นเมทิลเอสเตอร์ออก ซึ่งกระทำโดยการให้ความร้อนจนถึงอุณหภูมิ 120 oC เป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที หรือการกรองด้วย salt filter และเมื่อทิ้งไว้ให้เย็นก็สามารถนำไปเก็บเพื่อใช้งานต่อไป
 
 


คุณค่าต่อสังคมไทย
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงเล็งเห็นว่าในอนาคตค่ารถและค่าน้ำมันจะแพงขึ้น พระองค์จึงทรงได้มีพระราชกระแสให้คิดค้นเกี่ยวกับพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ ที่สามารถนำมาใช้แทนน้ำมันจาก ปิโตรเลียมได้ ซึ่งในปัจจุบัน พลังงานทางเลือกเหล่านี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระทางค่าใช้จ่ายของพสกนิกรชาวไทยได้เป็นอย่างดี ลดภาระการน้ำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยลดค่าใช้จ่ายลงไป อีกทั้งยังเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย


ความประทับใจที่มีต่อพระราชกรณียกิจนี้คือ เป็นโครงการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันของเกษตรกร และ ถือว่าเป็นโครงการที่พระองค์คิดค้นด้วยภูมิปัญญาของไทยสามารถนำของที่อยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้





ที่มา http://www.weloveroyalty.com/main/th/project/detail/ไบโอดีเซล/6.html

 

สื่อวีดีทัศน์ จากรายการข่าวบันเทิง True Inside HD Good Morning Inside เวลา 07.30 น. Entertainment Day เวลา 12.00 น. (เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 10.00 น.) 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้