โครงการหลวงดอยคำ

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  65670 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการหลวงดอยคำ

โครงการหลวงดอยคำ

 

   

“ดอยคำ” โครงการหลวงของพ่อ
เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของลูก


หากจะกล่าวถึงโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นผู้ริเริ่มขึ้น หนึ่งในโครงการที่คนไทยรู้สึกคุ้นเคยและใกล้ชิดที่สุดคงหนีไม่พ้น "ดอยคำ" ภาพของภูเขาเขียวขจี มีผัก ผลไม้เมืองหนาว และอาหารแปรรูป ซึ่งปลูกโดยชาวเขาในเขตภาคเหนือของประเทศได้ถูกบันทึกลงในหัวใจของคนไทยมาเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ



เกษตรเพื่อชีวิตที่อยู่ดีกินดีของชุมชน


จากสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากการเสด็จประพาสต้นภาคเหนือเมื่อพ.ศ. 2512 ทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ยากลำบากของเหล่าชาวไทยภูเขา จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย โดยส่งเสริมให้หันมาปลูกพืชผักผลไม้ทดแทนหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นท้อ ลิ้นจี่ แอปเปิ้ล มันฝรั่ง ถั่วแดงหลวง ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ เป็นต้น

 

 


 

 

 

   จุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ ที่ทรงเห็นความทุกข์ยากของประชาชน และทรงพบว่าปัญหาหลักนั้นเกิดจากการปลูกฝิ่น ซึ่งถือเป็นภัยยาเสพติดที่รุนแรงของชาติ เนื่องจากชาวบ้านและชาวเขาไม่มีอาชีพที่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ จึงต้องปลูกฝิ่นขายและทำไร่เลื่อนลอยแทน ดังนี้แล้วจึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ขึ้น เพื่อสร้างงานและสร้างอาชีพให้กับคนที่อยู่ไกลจากตัวเมือง โดยเฉพาะกลุ่มชาวไร่และชาวเขา โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นการเกษตรที่ยั่งยืนเท่านั้น โดยโครงการนี้สนับสนุนให้ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ทุกคนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง

  

   "ต้นน้ำ" คือ การผลิตพืชผลที่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน และต้องมีประสิทธิภาพที่ดีในการผลิตด้วยเช่นกัน บ้านเมืองเราได้ชื่อว่าสุวรรณภูมิ เพราะเปรียบเสมือนแผ่นดินทองคำที่ปลูกอะไรก็ขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของประเทศเราอยู่แล้ว

   "กลางน้ำ" คือการรู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ขั้นตอนนี้นับเป็นจุดอ่อนของคนไทยมากที่สุด เพราะปัจจุบันคนไทยมักเน้นการผลิตจำนวนมาก เน้นปริมาณให้เยอะ ขายราคาถูก และเน้นส่งออก เมื่อเกิดการแข่งขันหรือราคาพืชผลตกต่ำตามฤดูกาลจึงทำให้เกิดปัญหา หรือในขณะที่เงินไหลเข้าประเทศไทยก็ทำให้ค่าเงินบาทแข็งและทำให้เราขาดทุนเพิ่มมากขึ้นและแน่นอนว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้นั้น เราจำเป็นต้องมีโครงการที่สามารถช่วยเหลือด้านการรับซื้อพืชผลในราคาเป็นธรรม แล้วนำไปแปรรูปต่อได้

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสหกรณ์ชาวเขา และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งแรกขึ้น เพื่อรองรับด้านการซื้อผลผลิตจากพืชในโครงการในราคาที่เป็นธรรม และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ “ดอยคำ” เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการจัดหาช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาดระดับประเทศ โดยมีคำขวัญว่า “โรงงานหลวงฯ เพื่อปวงชน” ที่ถูกออกแบบตามภูมิสังคมให้กลมกลืนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมด้านเกษตรกรรม รวมทั้งยังพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่ดีกินดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

 

ในปี พ.ศ. 2537 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (Doi Kham Food Products Co.,Ltd.) เพื่อรองรับผลผลิตของมูลนิธิโครงการหลวงและเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย อ.เต่างอย จ.สกลนคร และโรงงานแห่งใหม่ที่กำลังจะเปิดในปี 2561 ที่อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์

 

 

 “ดอยคำ” ก่อตั้งขึ้นจากแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทย ทรงก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นในพื้นที่การเกษตร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ดำเนินการส่งเสริม รับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณภาพ ในราคาเป็นธรรม โดยเริ่มต้นเพียง ๑๐ รายการ ใน ๒ กลุ่มสินค้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ได้จัดตั้งองค์กรเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ด้วยการเป็นต้นแบบองค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการตามศาสตร์แห่งพระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างยั่งยืน จวบจนปัจจุบัน ดอยคำมีสินค้ากว่า ๒๒๐ รายการ ใน ๒๒ กลุ่มสินค้า โดยในปี ๒๕๖๓ ดอยคำมีร้านสาขากว่า ๓๖ แห่ง และร้านครอบครัวดอยคำ (เฟรนไชส์) อีก ๑๓ สาขาทั่วประเทศ

 

 

ซึ่งปัจจุบัน มีโรงงานหลวงที่คอยแปรรูปอาหารในพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งหมด 4 แห่ง คือ

  1. โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่
  2. โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย
  3. โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร
  4. โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 (ละหานทราย) จ.บุรีรัมย์

   ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะได้รับการดูแลเชิงพาณิชย์ ภายใต้นิติบุคคลในนาม “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” โดยดำเนินงานในรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) ผ่านตราผลิตภัณฑ์ “ดอยคำ” และนั่นทำให้คนมากมายจดจำได้ จนเรียกกันติดปากว่า “โครงการหลวงดอยคำ” นั่นเอง ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเล็งเห็นมูลค่าในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เช่นนี้มายาวนาน มิเช่นนั้น การปลูกมะเขือเทศก็คงเป็นเพียงการปลูกเพื่อขายเท่านั้น แต่การแปรรูปเป็นน้ำมะเขือเทศดอยคำกลับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการที่จำหน่ายสินค้าเกษตรสดยังมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งสินค้ามีอายุสั้น การขนส่ง และการควบคุมคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภคก็ทำได้ยาก ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกษตรกรและผู้แปรรูปทั้งหลายควรคำนึงถึง

 

โดยโรงงานหลวงฯ ทั้ง ๔ แห่ง มีส่วนในการพัฒนาชุมชนชนบทตามศาสตร์ของพระราชา และโมเดลของดอยคำ กว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือน รวมถึงการพัฒนาการศึกษาด้วยการพัฒนาโรงเรียนในบริเวณรอบโรงงานหลวงฯ และบำรุงพุทธศาสนาด้วยการพัฒนาวัดให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่คนในชุมชน จะเห็นได้ว่า ดอยคำมีการดำเนินงานที่เป็น ธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนรอบด้านทั้งการพัฒนาเกษตรกร ชุมชน และสังคม

ผลผลิตหลักที่ดอยคำเป็นผู้นำตลาดเพื่อการพัฒนาชนบท คือ น้ำมะเขือเทศ จากผลผลิตมะเขือเทศที่สดใหม่ จึงได้น้ำมะเขือเทศที่มีคุณภาพดีที่สุดในท้องตลาด เฉกเช่นผลผลิตจากสตอรว์เบอร์รี ทั้งผลสดที่มอบความสดใหม่ในความหวานที่ควรบริโภคผลสด และสตอรว์เบอร์รีอบแห้งที่ผลิตจากสตอรว์เบอร์รี พันธุ์พระราชทาน ๘๐ ทำให้ได้เนื้อสัมผัสที่ชุ่มฉ่ำไม่แห้งจนเกินไป และจะขาดไม่ได้คือ น้ำเสาวรส จากเสาวรสพันธุ์สีเหลืองจึงเป็นน้ำเสาวรสที่มีความหอมหวานและรสชาติดีกว่าพันธุ์อื่นๆ

 

   “ปลายน้ำ” คือ การส่งของให้ถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือผ่านให้น้อยที่สุด เพราะอย่างที่เราทราบกันว่า พ่อค้าคนกลางเป็นคนที่เก็บกำไรไว้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในยุคที่อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ การส่งของถึงมือผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันโครงการดอยคำมีการพัฒนาเรื่องช่องทางออนไลน์อยู่เสมอ และดอยคำก็มีแผนบุกตลาดต่างประเทศเช่นกัน ถือเป็นโอกาสทางการค้าที่น่าสนใจไม่น้อยปัจจุบันสินค้าของ“ดอยคำ”ได้มีการแตกประเภทการผลิตออกไปอย่างหลากหลายมากขึ้น จากเครื่องดื่ม อาทิ น้ำผักและน้ำผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ปัจจุบันดอยคำมีสินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าแปรรูปต่าง ๆ จากโครงการหลวงมากมาย ทั้งผลไม้อบแห้ง, น้ำผึ้ง, นมถั่วเหลือง, สมุนไพรแห้ง, ผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง, น้ำผลไม้เข้มข้น ข้าวกล้อง และผลไม้ในน้ำเชื่อมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น สินค้าของดอยคำนั้น มีการพัฒนาเพื่อตอบรับกับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างต่อเนื่อง เช่น สินค้าที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังต้องการลดน้ำหนักหรือมีอาการโรคเบาหวาน คือ “เครื่องดื่มเจียวกู้หลานและดอกคำฝอยผสมสารสกัดจากใยหญ้าหวาน” ซึ่งมีรสชาติคล้ายเก๊กฮวย ให้กลิ่นที่แตกต่าง แต่มีรสชาติอร่อยไม่แพ้กัน และการใส่หญ้าหวานแทนน้ำตาลนั้น ก็ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นทางเลือกของคนรักสุขภาพอย่างแท้จริง อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เหมาะกับช่วงเวลาที่เร่งรีบยามเช้าคือ “แยมมัลเบอร์รี (มัลเบอร์รีทาขนมปัง ดอยคำ)” หรือ “แยมกลีบกุหลาบ (ผลิตภัณฑ์ทาขนมปังกลีบกุหลาบ)” ที่มีส่วนผสมของกลีบกุหลาบแท้ สามารถนำมาทาขนมปังพร้อมรับประทานได้ทันที ซึ่งสูตรใหม่ได้ทำการลดปริมาณน้ำตาลลง และใช้สารให้ความหวานอย่างแมนนิทอลแทน ทำให้มีแคลอรีต่ำ แต่ยังคงปริมาณผลไม้ในแยมอัดแน่นเช่นเดิม

 

ผลิตภัณฑ์ดีๆ เพื่อประชาชนทั้งประเทศ
ปัจจุบันดอยคำกลายเป็นที่รู้จักกันในนามของแบรนด์เพื่อสุขภาพที่นำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำผลไม้ ผลไม้อบแห้ง นมถั่วเหลือง สมุนไพรผง แยมทาขนมปัง ผลไม้ในน้ำเชื่อม น้ำผึ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเน้นคุณภาพเป็นหลัก อีกทั้งยังมีการตั้งราคาตามต้นทุนของวัตถุดิบจริง ทำให้สามารถขายในราคาที่เหมาะสมและแตกต่างจากราคาท้องตลาด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคซึ่งเป็นประชนชนคนไทยทั้งประเทศ

 

 อย่างผลิตภัณฑ์ยอดฮิต อย่าง “น้ำมะเขือเทศดอยคำ” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากที่สุด ด้วยคุณประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ วิตามินซี คอลลาเจน และไลโคปิน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคอย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

 

นอกจากดอยคำแล้ว ยังมีโครงการหลวงอื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาดอยตุง โครงการส่วนพระองค์จิตรลดา รวมถึงสินค้าต่างๆ ภายใต้โครงการหลวง ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้แนวการดำเนินงานคล้ายคลึงกัน คือการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสำหรับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อแสวงหากำไร เน้นการสร้างสมดุลและสร้างประโยชน์ให้กับทุกส่วน ตามสโลแกนที่ว่า “เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย” อย่างแท้จริง



ขอบคุณแหล่งข้อมูลและภาพประกอบ www.doikham.co.th, facebook.com/DoikhamFP

 

 

  โครงการหลวงดอยคำ ถือเป็นตัวอย่างของการให้โอกาสกับผู้ที่เคยทนทุกข์จากการปลูกและเสพยาเสพติด สู่การพลิกฟื้นชีวิตให้พวกเขามีอาชีพและมีคุณค่าต่อสังคม ไม่ต่างจากภูเขาฝิ่นและไร่เลื่อนลอยอันแห้งแล้ง ที่กลับมาเขียวขจีและงดงามอีกครั้ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์มากมายจากโครงการหลวงดอยคำนั้น ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่เปรียบมิได้ต่อชาวเขาและปวงพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศอย่างแท้จริง

 

 

   อ้างอิง :

   Krungsri GURU

   BC3 Project โครงการหลวงดอยคำ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้