Last updated: 11 ก.ย. 2566 | 953 จำนวนผู้เข้าชม |
❝ น้ำ สร้างชีวิต ❞
ลุ่มน้ำชี เป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในจังหวัดชัยภูมิ บริเวณสองฝั่งลำน้ำชี มีหนองน้ำธรรมชาติจำนวนมาก จึงเหมาะกับการเพาะปลูกและทำนา
ในปี พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2540 เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานปริญญาบัตร ที่จังหวัดขอนแก่น ทรงมีพระราชดำริว่า ลำน้ำชีในฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมพื้นที่ 2 ฝั่ง เมื่อถึงเวลาน้ำลด ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ จึงควรมีวิธีสำรองน้ำและหาวิธีเก็บกักน้ำให้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก
จากนั้น ได้มีพระราชดำริให้ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ เสริมคันดินกั้นน้ำให้สูง เพื่อให้เก็บกักน้ำได้มากในฤดูฝน เป็นแหล่งน้ำต้นทุนนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรและการอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนาปรัง และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังได้ รวมทั้งเป็นแก้มลิง ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในฤดูที่มีฝนตกหนัก นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาใช้ในโครงการเกษตรน้ำฝนตามทฤษฎีใหม่ได้อีกด้วย
การดำเนินงานเริ่มตั้งแต่ปี 2541 โดยมีเป้าหมายการขุดลอกและพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 34 โครงการ สามารถกักเก็บน้ำได้รวม 58.65 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. ได้ประสานจังหวัดขอนแก่นและกรมวิชาการเกษตรส่งเสริมสนับสนุนการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร เพื่อให้การสนองพระราชดำริในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อราษฎรอย่างต่อเนื่อง คือ สามารถเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรและเพิ่มรายได้ ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้วัสดุในท้องถิ่น ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยคอก และการปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มมูลค่าผลผลิต รวมถึงการนำแนวคิดการปลูกพืชพลังงานทดแทน เช่น การปลูกไม้ 3 อย่างแต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง มาใช้ต่อไป
แนวพระราชดำริของพระองค์นั้นได้ก่อเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและประโยชน์สุขแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
นับเป็นแสงแห่งพระบารมี ที่ส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทย ตราบนิรันดร์
หมายเหตุ : คลิปแอนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ (ผลิต ๒๕๖๖) ชุดนี้ ผลิตขึ้นเพื่อน้อมถวายแด่พ่อหลวง "ในโอกาสครบ ๗ ปีวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖" อีกทั้ง เป็นการสร้างการรับรู้ให้กับเยาวชน และประชาชนโดยทั่วไปให้มากยิ่งๆ ขี้นไป
ขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนการผลิตคลิปนี้