Last updated: 6 ก.ย. 2566 | 903 จำนวนผู้เข้าชม |
❝ อ่างเก็บน้ำห้วยไฟ อ่างเก็บน้ำแห่งชิวิต ❞
เมื่อประมาณปี 2518 ถึง 2522 ในพื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซาง จังหวัดพะเยา เกิดปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากป่าต้นน้ำถูกทำลาย ลำน้ำห้วยไฟเป็นลำน้ำที่ไหลตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะมีมากเกินความจำเป็นจนเกิดอุทกภัย แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งน้ำจะลดลงจนขาดแคลนน้ำอย่างมาก
ชาวบ้านไม่มีน้ำทำนา ไม่มีข้าวกิน จนต้องอพยพออกจากพื้นที่ เพื่อไปขายแรงงานที่จังหวัดใกล้เคียง เพราะทำเกษตรไม่ได้ ความลำบากที่ดูเหมือนหมดทางแก้นี้ แต่แล้วก็มีแสงสว่างแห่งชีวิต ส่องนำทางให้ชาวบ้านผู้ลำบากยากไร้ หวนคืนสู่ผืนนาบ้านเกิด
โดยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำร่องส้าน ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา นายสนิท คำงาม ผู้ใหญ่บ้านทุ่งติ้วได้ถวายฏีกา เพื่อขอร้องให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไฟขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก ทรงมีพระราชดำริ ให้พิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และฝายทดน้ำ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในหมู่บ้านต่างๆ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง อีกทั้งทำให้มีน้ำไว้เพื่อการอุปโภค บริโภค
กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานพะเยา สำนักงานชลประทานที่ 2 จึงได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไฟขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมอ่างเก็บน้ำร่องส้าน
เมื่ออ่างเก็บน้ำห้วยไฟ อันเนื่องมาจากพระราชดำริก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2525 ชาวบ้านทุ่งกระเทียมจึงพร้อมใจกัน สร้างฝายขุดคลองส่งน้ำเข้าสู่ผืนนาด้วยมือของพวกเขาเอง ทำให้ชาวบ้านหวนคืนผืนนาบ้านเกิดอีกครั้ง จากที่เหลือชาวบ้านเพียง 174 หลังคาเรือน กลับเพิ่มขึ้นเป็น 300 หลังคาเรือน และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะสามารถทำการเกษตรได้ อ่างเก็บน้ำห้วยไฟ นอกจากจะเป็นอ่างเก็บน้ำที่คืนชีวิตให้กับชาวบ้านแล้ว ยังเป็นอ่างเก็บน้ำที่ทุกคนรักและจะร่วมกันดูแลยิ่งชีวิตตลอดไป
นับเป็นแสงแห่งพระบารมี ที่ส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทย ตราบนิรันดร์
หมายเหตุ : คลิปแอนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ (ผลิต 2566) ชุดนี้ ผลิตขึ้นเพื่อน้อมถวายแด่พ่อหลวง "ในโอกาสครบ 7 ปีวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคม 2566" อีกทั้ง เป็นการสร้างการรับรู้ให้กับเยาวชน และประชาชนโดยทั่วไปให้มากยิ่งๆ ขี้นไป
ขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนการผลิตคลิปนี้