อนิเมชั่น เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตอน ข้าวช่อขิง

Last updated: 19 ส.ค. 2565  |  1676 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อนิเมชั่น เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตอน ข้าวช่อขิง

ความเป็นมา : ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แต่เดิมเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ประชาชนมีความเป็นอยู่ แบบสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิม ทำนาปลูกข้าวและหาอาหารตามป่าตามลุ่มน้ำ พวกที่อยู่ตามชายทะเลก็มีอาชีพประมง ได้มากจนเหลือนำไปแลกเปลี่ยนเป็นข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนได้ ไม่มีใครต้องอยู่ในภาวะอดอยากยากแค้นเลย

    ในเวลาต่อมามีการทำสวนยางพาราจำนวนมาก เนื่องจากยางพารามีราคาดี ผู้คนเริ่มละทิ้งการทำนาเพื่อไว้กินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเห็นว่าเมื่อมีรายได้จากการขายยางพารา ก็จะมีเงินซื้อกินได้ทุกอย่างเอง มีการปล่อยทิ้งนาให้ร้างและมีการนำเข้าข้าวจากพื้นที่อื่นๆ เข้าไปจำหน่ายจำนวนมาก จนเมื่อเกิดปัญหายางพาราราคาตกต่ำ ชาวบ้านก็เดือดร้อน ไม่มีเงินไปซื้อข้าวกิน

 

 

    กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้มีการส่งเสริมฟื้นฟูนาร้างขึ้นมา จากการเรียนรู้ที่ได้รับจากส่วนราชการ ในเรื่องปรัชญาแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง จึงมีกลุ่มสตรี ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา รวมกลุ่มกันฟื้นฟูนาร้างเพื่อผลิตข้าวดีมีคุณภาพอีกครั้ง ทำให้เกิดประกายแห่งความหวัง จากความตั้งใจดังกล่าวจึงมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งให้องค์ความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ และช่องทางการตลาด แนะนำเกษตรกรให้ปลูกพันธุ์ข้าวโบราณ “ข้าวช่อขิง” ที่ได้ผลเกินคาดหวัง เพราะวันนี้ไม่ได้เป็นแค่ข้าวบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยกระดับเป็นสินค้าของดีประจำอำเภอเทพา ข้าวช่อขิงที่นี่เป็นเกษตรอินทรีย์ 100% สิ่งที่พิสูจน์ได้คือนาข้าวที่นี่ มีไส้เดือนช่วยพรวนดิน แถมเกษตรกรยังเป็นผู้เก็บเกี่ยวและสีเอง เพราะมีโรงสีข้าวประจำกลุ่มเพื่อให้ทุกขั้นตอนตรวจสอบได้

    ข้าวช่อขิง เป็นข้าวสีม่วงแดง มีความหอม ความนุ่มเหนียว อร่อย โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ตรวจสอบคุณค่าทางธาตุอาหาร พบว่ามีคุณค่าทางธาตุอาหารสูงกว่าข้าวหอมมะลิหลายเท่าตัว จึงทำให้เกิดการลดรายจ่ายและสามารถส่งออกจำหน่ายเป็นรายได้สำคัญอีกด้วย และเมื่อเป็นสมาชิกของเครือข่ายดาหลาบารู ทำให้เกิดช่องทางการตลาดมากขึ้น ภายใต้การส่งเสริมของ สหกรณ์การเกษตรนิคมเทพา จำกัด และมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนา คุณภาพสินค้า ส่งเสริมให้สมาชิกได้มีองค์ความรู้ในการผลิตและการวางจำหน่ายอย่างครบวงจร

    นับเป็นอีกจุดหนึ่งที่เครือข่ายดาหลาบารูพิสูจน์ให้เห็นว่าศาสตร์ของพระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถช่วยเหลือประชาชนได้จริง และการช่วยเหลือกันเป็นเครือข่ายจากเล็กไปใหญ่ ทำให้เกิดเครือข่ายที่มั่นคงและยั่งยืน เป็นไปตามพระราชดำริทุกประการ...

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้