Last updated: 25 ก.ค. 2565 | 9227 จำนวนผู้เข้าชม |
จากความเดือดร้อนร่วมกันเรื่องยาเสพติดนำมาสู่สังคมแบ่งปันที่เรียกว่า “สังคมแบ่งปันญาลันนันบารู”
ความเป็นมา : ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนมีความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด จำนวนมาก แม้ทางราชการจะพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดมากเพียงใด แต่ก็ยังไม่สามารถลดขนาดของปัญหาให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ทั้งนี้เพราะเป็นปัญหาที่ต้องใช้ความใกล้ชิดและต่อเนื่องในระดับพื้นที่ ให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างจริงใจ
โครงการญาลันนันบารูจึงได้เกิดขึ้น เพื่อเป็นโครงการที่จะสร้างความร่วมมือร่วมใจของประชาชนให้เกิดเป็นพลัง ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้บังเกิดผล ในพื้นที่บ้านเจาะตีเมาะ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ประชาชนไดร่วมมือกันเป็นพลังบริสุทธิ์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้สำเร็จ และผลพลอยได้จากการร่วมมือในการทำงานนั้น ก่อให้เกิดสังคมใหม่ที่มีความอบอุ่นและผาสุกของพี่น้องต่างศาสนาในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย โดยทั้งพี่น้องไทยพุทธ และไทยมุสลิมร่วมกันน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นภูมิคุ้มกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่ผ่านมา พวกเขารวมตัวกันใช้หลักการความพอเพียงในการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพเพื่อกิน เพื่อใช้ และมีการแบ่งปัน และนำไปสู่การทำเพื่อจำหน่ายอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน
หลักการชาวบ้านเจาะตีเมาะ ได้ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพึ่งพาตนเอง และพึ่งพากันเอง ร่วมกับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้มีประโยชน์คุ้มค่าที่สุด
ประโยชน์ : ปัจจุบันบ้านเจาะตีเมาะ มีผู้นำญาลันนันบารูจัดตั้งกลุ่มอาชีพเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง พี่น้องไทยพุทธเป็นประธานกลุ่ม แบ่งปันงานอาชีพให้กับพี่น้องไทยมุสลิม นำความคิดริเริ่มในการแปรรูปสินค้า เกษตรหลากหลายรูปแบบ เช่นผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้า ซึ่งมีตลาดขยายออกไปในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก จนขาดปัจจัยการผลิต จำเป็นต้องพึ่งพาผลผลิตจากเพื่อนบ้าน สมาชิกที่มีการปลูกกล้วยน้ำว้ากันเพียงบ้านละไม่กี่ต้น ก็สามารถมีรายได้จากการร่วมกันขายไปที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การรวมกลุ่มแบบสังคมแบ่งปัน จึงได้ช่วยให้เกิดการพึ่งพากันและกันอย่างลงตัวทำให้ทุกคนมีรายได้ และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นปัญหาที่จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการใช้ยาเสพติดก็หมดไปด้วย ทำให้เกิดสังคมของชุมชนเข้มแข็ง สังคมพหุวัฒนธรรม สังคมต่างศาสนา เกิดสังคมที่อบอุ่นและผาสุกจากการใช้หลักการ “แบ่งปัน” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
สังคมแบ่งปันได้เกิดขึ้นจริงแล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะเป็นต้นแบบในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ให้เกิดความรักสามัคคีตลอดไป
ด้วยความปรารถนาดีจาก กองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร