Last updated: 22 มี.ค. 2565 | 15478 จำนวนผู้เข้าชม |
“...ให้ก่อตั้งโครงการหลวงอินทนนท์ขึ้น โดยใช้ชื่อว่าโครงการหลวงอินทนนท์ เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นในพื้นที่ดอยอินทนนท์ เพื่อไม่ให้มีการอพยพโยกย้ายราษฎรไปอยู่พื้นที่อื่นแทน และกันไม่ให้มีการอพยพราษฎรจากที่อื่นมาเพิ่มในพื้นที่ ต่อมาในปี 2550 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์... ”
พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ประวัติความเป็นมา
เมื่อปีพุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง “โครงการหลวง” ขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีชื่อเรียกในระยะแรกว่า “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และได้รับงบจากรัฐบาลไทยรัฐบาลต่างประเทศและเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากราษฎร เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่มีประโยชน์และเป็นรายได้กับชาวเขา
ในวันพุธที่ 15 ธันวาคม 2514 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตพื้นที่ดอยอินทนนท์เป็นครั้งแรก เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังบ้านผาหมอน (ดอยอินทนนท์) ผู้ใหญ่บ้านที่มาเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงาน ความว่าในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว มีหมู่บ้านกะเหรี่ยง 5 หมู่บ้าน จำนวน 197 หลังคาเรือน ราษฎรมีอาชีพทำนาและปลูกฝิ่น ส่วนบริเวณที่สูงขึ้นไปทางยอดดอยอินทนนท์ มีการปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก ส่วนมากเป็นของชาวเขาเผ่าม้งขาว ซึ่งมีอยู่ 4 หมู่บ้าน ประมาณ 100 หลังคาเรือน ในขณะนั้นมีพระราชทานกระแสพระราชดำริให้ชาวเขาพยายามหาทางใช้น้ำจากน้ำตกมาใช้ประโยชน์ ทางการเกษตรและส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักกับหัวดอกไม้แกลดิโอลัสเพื่อชาวเขาเหล่านี้จะมีรายได้และเลิกทำการปลูกฝิ่นได้เป็นขั้นๆไป (ที่มา : เอกสารสิ่งพิมพ์เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา สำนักราชเลขาธิการ ปี2515 )
จากการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตพื้นที่ดอยอินทนนท์ครั้งแรกในปี 2514 เรื่อยมากระทั่ง วันที่ 6 ธันวาคม 2522 ได้มีการก่อตั้งโครงการหลวงอินทนนท์ขึ้นโดยมีหม่อมเจ้าภีศเดชรัชนีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยใช้ชื่อว่าโครงการหลวงอินทนนท์ เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นในพื้นที่ดอยอินทนนท์และเป็นการสนองพระราชดำริ เพื่อไม่ให้มีการอพยพโยกย้ายราษฎรไปอยู่พื้นที่อื่นแทน และกันไม่ให้มีการอพยพราษฎรจากที่อื่นมาเพิ่มในพื้นที่ และดำเนินการเรื่อยมา ต่อมาปี 2550 ใช้ชื่อเป็น “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานีวิจัยไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว ไม้ผล และพืชผัก พืชชนิดแรกที่นำเข้ามาปลูก ได้แก่ องุ่น โดยนำต้นพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาปลูกในพื้นที่โครงการหลวงอินทนนท์เป็นพื้นที่แรกของโครงการหลวง และดำเนินการวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับด้านพืชผัก เพื่อการขยายพันธุ์และส่งเสริมอาชีพให้เป็นรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ (ที่มา : หนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง)
ต่อมาในปี 2525 โครงการหลวงได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ “หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง” เพื่อใช้พื้นที่สำหรับงานวิจัยและทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาว และพืชอื่นๆ โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน (ปรับพื้นที่และทำนาขั้นบันได) กรมชลประทาน (ทำฝายกักเก็บน้ำและคลองชลประทาน) ซึ่งสภาพพื้นที่เดิมได้มีชาวบ้าน (ชนเผ่าม้ง, ชนเผ่ากะเหรี่ยง) ได้เข้าไปทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่นและได้ขยายงานวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ไปยังหน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง เพื่องานทดลองและวิจัยในระยะเริ่มแรกจะเป็นงานทดลองและวิจัยไม้ผลเมืองหนาวและพืชอื่นๆ ในปีเดียวกันนี้ทางโครงการหลวงอินทนนท์ ได้ก่อตั้ง “หน่วยแม่ยะน้อย” ที่บ้านม้งแม่ยะน้อย หมู่ที่ 18 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์มาทางทิศใต้16 กิโลเมตรเพื่อทดลองปลูกพืชผักชนิดต่างๆต่อมาในปี 2528 โครงการหลวงอินทนนท์ได้บุกเบิกพื้นที่ใหม ่เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์ให้มีการจัดเลี้ยงโคนมบนพื้นที่สูง จึงโปรดเกล้าให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีประสานความร่วมมือระหว่างโครงการหลวง กับ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค เพื่อเลือกพื้นที่ ของโครงการหลวงอินทนนท์ชึ่งมีความสูงใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดเดิมของโคนม จากการสำรวจสภาพพื้นที่เห็นว่า ทางไปบ้านแม่ยะน้อย มีภูเขาหัวโล้น มีป่าหญ้าคาว่างเปล่าอยู่จึงได้ประสานกับกรมป่าไม้เพื่อขอใช้พื้นที่จึงเป็น “หน่วยผาตั้ง” ในปัจจุบันนี้ซึ่งโคนมชุดแรกที่ได้รับมาทดลองเลี้ยงเป็นโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน (Holstein Friesian)
การดำเนินงานด้านการส่งเสริม/การวิจัย
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์มุ่งเน้นด้านงานวิจัยงานทดสอบ งานสาธิตการผลิตการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพพร้อมทั้งการฟื้นฟูและอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินงานด้านการวิจัย งานทดสอบ งานสาธิตการผลิตไม้ดอกไม้ผลกาแฟ พืชผักการพัฒนาอาชีพทั้งในภาคการเกษตรการปลูกพืชผัก ทั้งในระบบอินทรีย์และระบบ GAP การปลูกไม้ดอก ไม้ผล กาแฟ และปศุสัตว์ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้มากขึ้น มีประชากรที่ได้รับประโยชน์ 2,192 ครัวเรือน ประชากรรวม 8,004 คน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนต่างๆโดยให้ความสำคัญในการวิจัย ทดสอบ เพื่อค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาต่อยอดด้านการเกษตรรวมถึงด้านการบริหารจัดการ และยังส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชนพัฒนาสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนชาวเขา และการรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร กลุ่มออมทรัพย์ ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรที่สูงแก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป
การปลูกพืช
ผลผลิตหลัก
พืชผัก ได้แก่ กะหล่ำปลี, มะเขือเทศเชอรี่แดง, มะเขือเทศโครงการหลวง, พริกหวานเขียว, ซูกินี, ถั่วแขก, เซเลอรี,ยอดชาโยเต้, เฟนเนล,ต้นหอมญี่ปุ่น,ผักกาดฮ่องเต้, เบบี้ฮ่องเต้, เบบี้แคร์รอต,ผักกาดกวางตุ้งต้น,คะน้าฮ่องกง, โอ๊คลีฟเขียว
ไม้ดอก ได้แก่กุหลาบ, เจอบีร่า, จิ๊ปซอฟฟิลล่า, ลิ้นมังกร, ลิลลี่, ฟอโมลองโก้, พิทูเนีย, เทียนนิวกินี, อาจูก้า, เฟินใบมะขาม, ซัลเวีย, ลิ้นมังกร, ไฮเดรนเยีย
ไม้ผล ได้แก่ พีช, พลับ,กีวี, บ๊วย, พลัม,อะโวคาโด, มะม่วง,สตรอว์เบอร์รี, เครปกูสเบอร์รี, มัลเบอรี่, เสาวรส, มะเดื่อฝรั่ง, องุ่น
ผลผลิตรอง
พืชไร่ ได้แก่ ข้าว, ถั่วลิสง
เห็ด ได้แก่ เห็ดพ็อตโตเบลโล่, เห็ดแชมปิญอง
กาแฟ ได้แก่ อาราบิกา
ปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่, หมู
อาชีพหลักและอาชีพรองของเกษตรกร
เกษตรกรมีอาชีพหลัก คือ การปลูกพืชผักอินทรีย์และผัก GAP ที่มีคุณภาพได้ทั้งผักเมืองหนาว และเมืองร้อน เช่น เซเลอรี่ มะเขือเทศเชอรี่แดง เฟนเนล หอมญี่ปุ่น เบบี้ฮ่องเต้อินทรีย์ ผักกาดกวางตุ้งอินทรีย์ การปลูกไม้ดอกเมืองหนาวที่สำคัญ ได้แก่ เบญจมาศ กุหลาบ ลิ้นมังกร ออนิโทกาลัม เยอบีร่า จิ๊ฟซอฟฟิลล่า การปลูกไม้ผลเขตหนาว เขตกึ่งร้อน และไม้ผลขนาดเล็ก ได้แก่ พลับ พีช อะโวคาโด มะม่วง องุ่น สตรอว์เบอร์รี เครปกูสเบอร์รี อาชีพรอง คือ การเลี้ยงสัตว์และงานหัตถกรรม
ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง
เกิดจากการรวมกลุ่มเกษตรกรสามารถเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองได้มีการรวมกลุ่มมั่นคงในรูปแบบสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดอยอินทนนท์กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 2 กลุ่ม (วิสาหกิจชุมชนกลุ่มบ้านเมืองอาง, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟขุนยะ) กลุ่มทอผ้า กลุ่มเยาวชน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เกษตรกรทำการเกษตรกับมูลนิธิโครงการหลวงเฉลี่ยต่อครอบครัว จะมีรายได้ประมาณ 82,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำการเกษตร
อ้างอิง :
30 ส.ค. 2565
16 ส.ค. 2565
2 ส.ค. 2565
19 ก.ค. 2565