Last updated: 20 ธ.ค. 2564 | 4460 จำนวนผู้เข้าชม |
“…ให้คงวิธีการศึกษานอกระบบตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการให้เป็นแม่แบบตลอดไป ควรสำรวจที่ดินไว้เพื่อการเกษตรโดยดำเนินการควบคู่ไปกับโรงเรียนช่างเครื่องยนต์การเกษตร ให้ผู้เข้ารับการศึกษาเรียนเกษตรควบคู่กับหลักสูตรช่าง เพื่อให้ลูกพระดาบสสามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรถวายเป็นอาหารแก่พระดาบสและเป็นอาหารเลี้ยงตนเอง…”
พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โครงการลูกพระดาบสสมุทรปราการตามพระราชดำริ เป็นโครงการลูกของ “มูลนิธิพระดาบส” อยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของสำนักพระราชวัง มูลนิธิพระดาบส และจังหวัดสมุทรปราการ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2541 บนที่ดินราชพัสดุและที่ดินพระราชทาน รวม 475 ไร่ ที่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยมี ดาบสอาสา ซึ่งคืออาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้ และศิษย์พระดาบส คือนักเรียนที่มาศึกษาหาความรู้
ลักษณะการดำเนินงาน
การดำเนินงานของโครงการลูกพระดาบส แบ่งตามลักษณะการจัดการเรียนการสอนเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1. การเรียนการสอนศิษย์พระดาบส แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 8 หลักสูตร ประกอบด้วย 7 หลักสูตรสำหรับผู้สมัครเพศชายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้แก่ หลักสูตรวิชาช่างยนต์ หลักสูตรวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ หลักสูตรวิชาชีพช่างไฟฟ้า หลักสูตรวิชาชีพการเกษตรพอเพียง หลักสูตรวิชาชีพช่างซ่อมบำรุง หลักสูตรวิชาชีพช่างเชื่อม หลักสูตรวิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน โดยศิษย์พระดาบสจะต้องมีการเรียนหลักสูตรเตรียมช่างก่อนเป็นระยะเวลา 6 เดือนแล้วจึงเลือกวิชาเฉพาะทางจาก 7 หลักสูตรนี้ ส่วนหลักสูตรสำหรับผู้สมัครเพศหญิง ได้แก่ หลักสูตรเคหะบริบาล ซึ่งสอนเกี่ยวกับการดูแลเด็ก คนชรา และผู้ป่วย ซึ่งจะได้ลงมือปฏิบัติงานจริง และเมื่อจบไปสามารถไปทำงานตามโรงพยาบาลและสถานบริบาลทั่วไปได้ โดย 8 หลักสูตรนี้จะเปิดรับผู้สมัครอายุตั้งแต่ 18-35 ปี ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา แต่มีความตั้งใจจริง มีศีลธรรม มีวินัย ไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุขทุกชนิด และพร้อมที่จะศึกษาหาความรู้ โดยมีที่พัก อาหาร ให้ฟรีตลอดหลักสูตร 1 ปี
2. กิจกรรมการเกษตร มุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิชาความรู้สู่ชุมชน ซึ่งเมื่อฝึกอบรมเสร็จสามารถนำทักษะไปประกอบอาชีพได้ โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้ การประมง เช่น การเลี้ยงกุ้ง ปลาสลิด ปลานิล การปลูกไม้ทนสภาพดินเค็มรอบพื้นที่โครงการฯ เพื่อความร่มรื่นและนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ เช่น ยูคาลิปตัส โพธิ์ทะเล การปลูกผักและไม้ผล เช่น ผักไฮโดรโปนิกส์ เพาะเห็ด การปลูกไม้ดอกเพื่อจำหน่ายและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การปลูกไม้ประดับ การปลูกสมุนไพรเพื่อทำแปลงสาธิต และการปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโคเนื้อ ไก่ไข่ ไก่ชน
อ้างอิง :
16 ส.ค. 2565
30 ส.ค. 2565
2 ส.ค. 2565
19 ก.ค. 2565