โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร - นครพนม

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  12161 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดสกลนคร - นครพนม

“…ให้พิจารณาวางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร-นครพนม เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรบริเวณสองฝั่งของลำน้ำก่ำที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน และขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง…”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ความเป็นมาของโครงการ

    ลุ่มน้ำก่ำ เป็นลุ่มน้ำย่อยของกลุ่มน้ำโขง มีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ อันได้แก่ หนองหานและลำน้ำก่ำ โดยมีจุดเริ่มต้นจากหนองหาร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ไหลไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงแม่น้ำโขง ที่ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม รวมความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำฝนประมาณ 3440 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำเฉลี่ยรายปีประมาณ 1400 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่บริเวณสองฝั่งของลำน้ำก่ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมีราษฎรตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณตามเนินตลอดสองฝั่งลำน้ำ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม วิถีชีวิตของราษฎรต้องประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันเป็นประจำทุกปี โดยในช่วงฤดูฝนยามที่น้ำในแม่น้ำโขงมีระดับสูง พื้นที่เพาะปลูกก็จะถูกน้ำท่วม แต่ครั้นในช่วงฤดูแล้งเมื่อน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับต่ำ น้ำในลำน้ำก่ำก็จะไหลลงแม่น้ำโขงเกือบหมด ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร

    ต่อมาเมื่อความทราบถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม อย่างต่อเนื่องหลายครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2535 เริ่มจากทรงร่างรูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำ ปรากฏเป็นภาพลายพระหัตถ์เรียกว่า “ตัวยึกยือ” ประกอบด้วย ส่วนหัว อันหมายถึง หนองหานซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ต้นกำเนิดของลำน้ำก่ำ    

    ส่วนกระดูกสันหลัง หมายถึง ลำน้ำก่ำ ข้อที่เป็นปล้องๆ หมายถึง อาคารบังคับน้ำ ขอบลำตัวเปรียบเสมือนคลองระบายน้ำ ที่คาขนานไปกับลำน้ำก่ำ และส่วนหางคือแม่น้ำโขง แนวพระราชดำรินี้ จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้แก่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำก่ำ ที่มีน้ำให้ใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย ในฤดูน้ำหลากอีกด้วย

    จากนั้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2542 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพิ่มเติม ให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินงานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำก่ำ ในลำน้ำก่ำตอนล่างเพียงระดับต่ำ เพื่อให้เก็บกัก น้ำในพื้นที่เพียงเล็กน้อยก่อน เนื่องจากขณะนั้นยังมีปัญหาที่ดินที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งราษฎรเรียกร้องค่าตอบแทนสูงมาก กระทั่งเมื่อสามารถเจรจาปัญหาที่ดินที่ถูกน้ำท่วมกับราษฎรได้ในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรมชลประทานจึงได้พิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ประเภทประตูระบายน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ราษฎรทั้งสองฝั่งลำน้ำสูบน้ำจากลำน้ำก่ำตอนล่าง ไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพได้อย่างสมบูรณ์ ภายหลังการก่อสร้างประตูระบายน้ำน้ำก่ำตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้แล้วเสร็จ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำว่า ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ซึ่งมีความหมายว่า ประตูระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชดำริสร้างขึ้น

 

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในบริเวณพื้นที่โครงการ สำหรับช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำใช้ในการเกษตรและอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งราษฎรต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี

    2. เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาระปลูกบริเวณสองฝั่งลำน้ำ ในช่วงฤดูฝน ให้เกิดความเสียหายน้อย

     3. เพื่อพัฒนาการเกษตรกรรม จัดการเกษตรแบบผสมผสาน โดยระดมการสนับสนุนการพัฒนาจากหน่วยงานราชการต่างทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการให้ราษฎรในโครงการได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมด้วย

    4. เพื่อปรับปรุงรายได้และมาตรฐานการครองชีพของราษฎรในพื้นที่โครงการ ให้อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของชาวชนบททั่วไปในประเทศไทย

    5. เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการสร้างความมั่งคงให้พื้นที่ชายแดน

    ด้านการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้จัดตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่โครงการทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวพระราชดำริ และเป็นการเพิ่มศักยภาพพื้นที่ชลประทานตามเป้าหมายของกรมชลประทาน

    ดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำจำนวน 7 แห่ง ที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำก่ำเหนือประตูระบายน้ำของแต่ละแห่ง ซึ่งปริมาณน้ำที่เก็บกักจำนวนนี้สามารถนำไปใช้ในการชลประทานในพื้นที่สองฝั่งของลำน้ำได้ โดยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและทำการสูบน้ำที่เก็บกักเหนือประตูระบายน้ำแต่ละแห่ง ไปยังคลองชลประทาน เข้าสู่พื้นที่ชลประทานทั้งสองฝั่งลำน้ำซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ คิดเป็นพื้นที่ชลประทานรวม 41,700 ไร่ จากพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 165,000 ไร่  

    เกษตรกรในเขตพื้นที่โครงการได้รับประโยชน์จากการมีน้ำเพื่อทำการเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยฤดูฝนสามารถทำนาได้เต็มพื้นที่ ส่วนในฤดูแล้งจะเป็นการปลูกพืชอายุสั้นต่างๆ ได้แก่ ข้าวโพด มะเขือเทศ แตงโม และอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้มีการ จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อบริหารและจัดการน้ำภายในกลุ่ม ทำให้กาส่งน้ำชลประทานมีประสิทธิภาพ เกษตรกรได้รับผลผลิตที่มั่นคง มีรายได้สูงขึ้น โดยปัจจุบันได้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเต็มพื้นที่ และหลายแห่งมีความเข้มแข็งและมีการบริหารจัดการที่ดี

    กรมชลประทานได้ดำเนินการบูรณาการ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครพนม องค์กรปรกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกษตรกร ใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทานให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มอบหมายให้ศูนย์ศึกษา การพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริร่วมกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ ส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการผลิตการเกษตรที่ให้ผลตอบแทนที่สูงเพียงพอเพื่อจูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้ราษฎรผลิตสินค้าด้านการเกษตรแบบมีสัญญา เพื่อเป็นการประกันความผันผวนด้านราคาและปริมาณความต้องการผลผลิตการเกษตร และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการสร้างผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากน้ำที่ได้กักเก็บไว้เหนือประตูระบายน้ำทุกแห่งอย่างคุ้มค่า

งานก่อสร้างประตูระบายน้ำ ระบบส่งน้ำ จำนวน 7 แห่ง มีดังนี้

      ประตูระบายน้ำในลำน้ำก่ำ จำนวน ๔ แห่ง ดังนี้

         1. ประตูระบายน้ำบ้านหนองบึง ตำบลด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x7.5 ม. จำนวน 2 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 1.87 ล้านลบ.ม.

         2. ประตูระบายน้ำบ้านนาขาม ตำบลวังยาง อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม
เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x7.5 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 3.10 ล้านลบ.ม.

         3. ประตูระบายน้ำบ้านนาคู่ ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x7.50 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 8.75 ล้านลบ.ม.

         4. ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต (น้ำก่ำตอนล่าง) บ้านโนนสังข์ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายตรง ขนาด 10.00 ม.x9.00 ม. จำนวน 4 ช่อง พร้อมระบบสูบน้ำกลับ ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก +137.50 ม.รทก. เก็บกักน้ำได้ 16.4 ล้าน ลบ.ม.

      ประตูระบายน้ำในลำน้ำบัง จำนวน 2 แห่ง ดังนี้

         1. ประตูระบายน้ำบ้านตับเต่า ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x5.50 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 0.73 ล้านลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 6,000 ไร่ 

         2. ประตูระบายน้ำบ้านนาบัว บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายโค้ง ขนาด 6.00 ม.x5.50 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 1.05 ล้าน ลบ.ม.

      ประตูระบายน้ำในลำห้วยแคน จำนวน 1 แห่ง

         ประตูระบายน้ำห้วยแคน บ้านโพธิ์ทอง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายตรง ขนาด 6.00 ม.x6.70 ม. จำนวน 3 ช่อง ความจุในลำน้ำระดับเก็บกัก 1.90 ล้านลบ.ม.

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

    1. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน ได้ทั้งหมดประมาณ 165,000 ไร่ (ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้งได้ประมาณ 47,000 ไร่)

    2. เป็นแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคและอุตสาหกรรมบริเวณลุ่มน้ำเขต อ.เมือง , อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร และอำเภอวังยาง, อ.นาแก, อ.ปลาปาก ,อ.เรณูนคร, อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

    3. บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำก่ำ ในเขต จ.สกลนคร จ. นครพนม

 

 

อ้างอิง :

     

    

    

 

    

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้