Last updated: 20 ส.ค. 2564 | 6212 จำนวนผู้เข้าชม |
“ สิ่งโสโครกจากบ้านเรือนที่ให้เทศบาลสูบไป มักนำไปปล่อยลงคลอง ลงแม่น้ำ ถ้าหาที่แห่งหนึ่งนอกเมือง ทำถังหมักสิ่งโสโครกไว้ 10 วัน สิ่งที่เป็นสิ่งโสโครกก็หายโสโครกเชื้อโรคอะไรก็หมดไป ถ้าให้ดีเอาไว้ 28 วัน ให้มันจริงๆจังๆ พวกเชื้อที่ร้ายแรงที่ยังมีอยู่ก็หมด แม้แต่กลิ่นก็หายหมด เสร็จแล้วเอามาตากใช้ประโยชน์ได้ ทั้งส่วนที่เป็นของแข็งและส่วนที่เป็นน้ำเป็นปุ๋ยที่ไม่เหม็นเทศบาลต่างๆ ที่มีปัญหานี้ก็ต้องพยายามพิจารณาว่าจะทำอะไรต่อไป ”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น จังหวัดนนทบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น นายสาโรจน์ คัชมาตย์ จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำแนวทางตามพระราชดำริฯ มาดำเนินการต่อไปด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแก้ปัญหาการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ยังไม่ถูก สุขลักษณะอันเป็นสาเหตุ ของปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 นนทบุรี ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีให้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างบ่อหมักสิ่งปฏิกูลตามแนวพระราชดำริ ขนาดความจุ 15 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 32 บ่อ ณ วัดสวนแก้ว จ. นนทบุรี ซึ่งพระอาจารย์พยอม กัลยาโณ ได้ให้ความอนุเคราะห์พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 5 ไร่ ขณะนี้การก่อสร้างได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
วัตถุประสงค์
เพื่อกำจัดสิ่งปฏิกูล โดยการหมักด้วยขบวนการไม่ใช้ออกซิเจน ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อใน ระบบทางเดินอาหารและพยาธิ แล้วนำผลผลิตที่ได้ไปใช้ทำปุ๋ยสำหรับการเกษตร
บ่อหมักสิ่งปฏิกูล
บ่อหมักสิ่งปฏิกูล คือ บ่อที่สร้างขึ้นสำหรับกักเก็บสิ่งปฏิกูลจากรถดูดส้วมนำมาใส่ไว้ เพื่อให้เกิดการย่อยสลาย โดยแบคทีเรียตามธรรมชาติ การกำจัดสิ่งปฏิกูลโดยอาศัยขบวนการหมักย่อย สลายในถังปิดโดยไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) ซึ่งเติมครั้งเดียว (Batch Type Culture) ซึ่งเป็นผลการศึกษาวิจัยตามพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2523 ที่จังหวัดนนทบุรี โดยมี หน่วยงานสนองพระราชดำริ คือ กรมอนามัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงพยาบาลบำราศนราดูร ผลการวิจัยทำให้ได้ระบบบำบัดที่นำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมถูกหลักการสุขาภิบาลและมีผลได้คือ น้ำและกากนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้
การก่อสร้างบ่อสิ่งปฏิกูล
การก่อสร้างเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2545 โดยการปรับพื้นที่สร้างถนน และตอกเสาเข็ม ทำฐานรากบ่อหมักและส่วนประกอบของระบบบำบัดที่สำคัญ ดังนี้
1. ถังหมักย่อยสลาย เป็นถังคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 32 ถัง แต่ละถังมีความจุประมาณ 15 ลูกบาศก์เมตร เป็นรูปถังสี่เหลี่ยมมีความกว้าง 2.5 เมตร ยาว 4.50 เมตร สูง 1.5 เมตร หนา 0.1 เมตร มีท่อพี.วี.ซี.(PVC)ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว อยู่ที่ก้นถังด้านข้างเพื่อใช้เป็นท่อระบายน้ำและตะกอนซึ่งมีประตูน้ำเปิด - ปิด บนถังหมักย่อยสลายมีช่องคนลงขนาด0.5 x 0.5 ตารางเมตร พร้อมฝาปิด และมีท่อระบายอากาศ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว สูง 0.30 - 0.50 เมตร
2. ลานตากตะกอน เป็นลานสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐฉาบปูน ขนาดกว้างประมาณ 5.00 เมตร ยาว 6.70 เมตร สูง1.00 เมตร แบ่งเป็นช่องๆ ขนาด 16 ช่อง ใช้สำหรับตากสิ่งปฏิกูลที่ผ่านการหมักจากถังหมักย่อยสลายแล้ว ภายในลานตากชั้นล่าง จะบรรจุหินย่อยให้มีความหนาของชั้นหิน
3. บ่อเก็บน้ำ หลังจากปล่อยสิ่งปฏิกูลลงสู่ลานทรายกรอง ส่วนที่เป็นน้ำจะไหลผ่านชั้นทราย และ ไปเก็บรวบรวมไว้ที่บ่อเก็บน้ำ น้ำที่ออกมาจะเป็นปุ๋ยน้ำและสามารถนำไปใช้ ประโยชน์รดน้ำต้นไม้หรือสวนสาธารณะ
4. โรงเก็บปุ๋ย หลังจากที่ตากตะกอนที่ลานตากตะกอนจนแห้งแล้ว รวบรวมนำมาเก็บไว้ที่โรงเก็บปุ๋ย เพื่อจะได้นำมาใช้ประโยชน์ต่อไป
5. ที่พักคนงาน ไว้สำหรับเป็นที่พักคนงาน ทำความสะอาด และดูแลรักษาระบบบำบัดสิ่งปฏิกูล ให้มีอายุใช้งานได้นาน และมีประสิทธิภาพ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
การกำจัดสิ่งปฏิกูลตามแนวพระราชดำริฯ มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการกำจัด สิ่งปฏิกูลที่ถูกหลักสุขาภิบาล เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานสาธารณสุขของประเทศ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราการป่วยและพยาธิลำไส้ลดน้อยลง ลดการสูญเสียของประเทศจากการที่รัฐจะต้องใช้จ่ายงบประมาณในการสร้างโรงพยาบาล ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารและโรคพยาธิลำไส้ ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษา พยาบาล ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ ในทางกลับกันหากประชาชนมีสุขภาพดี จะสามารถประกอบอาชีพมีรายได้ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำสิ่งปฏิกูลมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ปลอดภัย ทำให้ประเทศสามารถ ประหยัดเงินในการสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศได้จำนวนมาก ส่วนปุ๋ยจากกากสิ่งปฏิกูลที่ผ่านการหมักย่อยสลาย ช่วยทำให้คุณภาพของดินดีขึ้น
อ้างอิง :
19 ก.ค. 2565
30 ส.ค. 2565
16 ส.ค. 2565
2 ส.ค. 2565