หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน

Last updated: 13 ส.ค. 2564  |  6413 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน

“...ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท...”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐเปี่ยมด้วยพระเมตตาคุณพระกรุณาธิคุณต่อทวยราษฎร์ ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขอาณาประชาราษฎร์อยู่เนืองนิจ ทรงมีพระอุปนิสัยอ่อนโยน ทรงมีพระเมตตาเอื้ออาทรต่อทุกคน ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้านพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมวลทันตแพทย์และวิชาชีพทันตแพทย์ อันจะหาที่เปรียบใดๆ มิได้ พระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่า "เวลาฉันมีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษาแล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า" พระองค์ทรงรับสั่งว่า "ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ ให้แก่เด็กนักเรียนและประชาชนที่อยู่ห่างไกล" ด้วยพระราชดำริดังกล่าวนี้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง " หน่วยทันตกรรมพระราชทาน " เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้จัดสร้างรถยนต์ ทำฟันเคลื่อนที่คันแรกเพื่อให้เป็น " หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนพระองค์ "

    ปัจจุบันการบริหารงานของหน่วยทันตกรรมพระราชทานประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารและอาสาสมัครโดยคณะกรรมการเป็นผู้วางแนวทางปรับกลยุทธ์การปฏิบัติงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้มากยิ่งขึ้น โดยอาศัยแนวพระราชดำริเป็นต้นแบบในการดำเนินงานเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี 2542 องค์กรผู้บริหาร คณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยคณะทันตแพทยศาสตร์ 8 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้พิจารณาขยายงานที่จะร่วมดำเนิน งาน"ทันตกรรมพระราชทาน" ให้กว้างขวาง ทั่วประเทศ และให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมือง ความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยเฉพาะ การบริการ สุขภาพช่องปากทุกประเภท คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกิจกรรมของหน่วยทันตกรรมพระราชทาน โดยรับผิดชอบสุขภาพช่องปากของนักเรียนและประชาชนบริเวณภาคเหนือตอนล่าง 10 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ พิจิตร ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุทัยธานี และพะเยา ได้ดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมราชชนนี "พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย" และวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยอาศัยเครื่องมือเครื่องใช้จากหน่วยทันตกรรมพระราชทานส่วนพระองค์ เพื่อให้บริการทันตกรรมที่อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันที่ 20-21 ธันวาคม 2542 โดยการให้บริการตรวจสุขภาพช่องปาก อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูนให้คำแนะนำทางทันตสุขศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับพระมหากรุณาธิคุณมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง "หน่วยทันตกรรมพระราชทานมหาวิทยาลัยนเรศวร" เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 เพื่อให้บริการทันตกรรมแก่นักเรียนและประชาชนบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีและมีความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตนเองได้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่เปรียบมิได้ แก่คณาจารย์บุคลากรของคณะทันตแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นศิริมงคลแก่ทุกคนที่มีโอกาสทำงานสนองพระราชดำริ


การดำเนินงาน

    การจัดตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ทำให้การบริการทางทันตกรรม สามารถขยายอาณาบริเวณให้กว้างขวางขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีทันตแพทย์ให้บริการได้อย่างต่อเนื่องทั่วถึงได้อาศัยบุคลากรในท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้รับทราบกำหนดการให้บริการ ประชาชนผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันทั้งปากเป็น ครั้งแรกยังความปลาบปลื้มและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ เป็นอย่างยิ่ง หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการการให้บริการ เป็น 2 รูปแบบ

    รูปแบบที่ 1 หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ออกให้บริการเฉพาะบริการทางทันตกรรม โดยทันตแพทย์และ บุคลากรข้างเคียง ให้บริการแก่นักเรียนและประชาชน ในทุกอำเภอของทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง โดยเริ่มต้นจากจังหวัดพิษณุโลก และอุตรดิตถ์ 

    รูปแบบที่ 2 หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ออกให้บริการร่วมกับหน่วยบริการเคลื่อนที่แบบครบวงจร ของมหาวิทยาลัย ซึ่งให้บริการทางเวชกรรม ทันตกรรม การตรวจทางเทคนิคการแพทย์ การพยาบาล สังคม การเกษตร สถาปัตยกรรม วิศวกรรม นิติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ทำให้ประชาชนได้รับบริการในการประกอบอาชีพและสุขภาพไปพร้อมกัน 

 

 

อ้างอิง :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้