Last updated: 20 ธ.ค. 2564 | 7148 จำนวนผู้เข้าชม |
พระราชดำริ
โครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 เมษายน และวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2528 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปรับปรุงบึงมักกะสัน เพื่อช่วยระบายน้ำและบรรเทาสภาพน้ำเสียในคลองสามเสน โดยใช้รูปแบบ “เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ” ความตอนหนึ่งว่า “...บึงมักกะสันนี้ ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน โดยใช้หลักว่าผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้วก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้ เป็นเครื่องกรองธรรมชาติใช้พลังงานแสงอาทิตย์และธรรมชาติของการเติบโตของพืช...”
ความเป็นมาของโครงการ:
บึงมักกะสันเป็นบึงขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งการรถไฟ แห่งประเทศไทยได้ขุดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายน้ำและรองรับน้ำเสีย รวมทั้งน้ำมันเครื่องจากโรงงานรถไฟมักกะสัน ทำให้บึงมักกะสันตื้นเขิน จากการตกตะกอนของสารแขวนลอย รวมทั้งครัวเรือนซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็ถ่ายสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยลงสู่บึงมักกะสัน จนเกิดปัญหาภาวะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและน้ำเน่าเสียกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงภัยแห่งภาวะมลพิษนี้จึงได้พระราชทานพระราชดำริ โดยใช้วิธีการในรูปแบบของ "เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ"
หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration) ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "บึงมักกะสัน" กล่าวคือ ให้มีการทดลองใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วนี้ มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก รวมทั้งสารพิษจากน้ำเน่าเสีย โดยทรงเน้นให้ทำการปรับปรุงอย่างประหยัด และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมบึง แนวพระราชดำรินั้นทรงให้ทำโครงการง่ายๆ โดยสูบน้ำจากคลองสามเสนเข้าบึงทางหนึ่ง และสูบน้ำออกจากคลองสามเสนอีกทางหนึ่ง ระยะห่างกัน 100-200 เมตร หรือฝังท่อระบายน้ำออกทางระบายน้ำอโศก-ดินแดง โดยให้คงมีผักตบชวาอยู่ในบึงและทำการตกแต่งให้ดีไว้บริเวณกลางบึง เพื่อกรองน้ำเสียแต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บผักตบชวาขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวก็ให้นำไปใช้ประโยชน์ เช่นทำปุ๋ยหมักหรือเชื้อเพลิง แต่อย่านำไปทำอาหารสัตว์ เพราะมีธาตุโลหะหนัก หลักการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย "บึงมักกะสัน"ระบบบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสันเป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาติ ที่เรียกว่า ระบบ Oxidation Pondหรือ "ระบบสายลมและแสงแดด" ซึ่งจะมีบ่อดินที่มีความลึก 0.5-2 เมตร สามารถให้แสงส่องลงไปได้ มีการใส่ผักตบชวาเพื่อเป็นตัวดูดซับ สารอาหารและโลหะหนักในน้ำเสียจากคลองสามเสน ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 30,000-100,000 ลูกบาศก์เมตร
การทำงานของระบบอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่าง พืชน้ำ ได้แก่ สาหร่าย หรือ อัลจี กับแบคทีเรีย โดยในเวลากลางวัน อัลจีซึ่งเป็นพืชน้ำสีเขียวจะทำการสังเคราะห์แสง โดยใช้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในน้ำและแสงแดด อัลจีจะนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้สร้างเซลล์ใหม่ ส่วนออกซิเจนที่เป็นผลพลอยได้นั้น ก็จะถูกแบคที่เรียนำไปใช้ในการย่อยสลายน้ำเสีย ซึ่งผลของปฏิกิริยานี้จะได้ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการดำรงชีพของอัลจี ดังนั้น อัลจี และแบคทีเรียจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้ โดยต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน การดำรงชีวิตในลักษณะนี้ เรียกว่า Symbiosis เนื่องจากอัตราการเติมออกซิเจน ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น การเจริญเติบโตของแบคทีเรียจึงถูกกำจัดด้วยปริมาณออกซิเจนเมื่อเป็นเช่นนี้อัตราเร็วของปฏิกิริยาของการ ทำลาย BOD จึงค่อนข้างช้า ระบบ Oxidation Pond จึงต้องใช้บ่อที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากประสิทธิภาพของระบบบึงมักกะสันขึ้นอยู่กับ ปริมาณของออกซิเจนที่ได้จากการสังเคราะห์แล้ว ดังนั้น ในบึงต้องไม่ ปลูกผักตบชวามากเกินไป เพราะจะบดบังแสงแดดสำหรับผักตบชวานั้นก็จะทำหน้าที่ดูดซึมอาหารต่าง ๆ และโลหะหนักในน้ำ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผักตบชวามีการเจริญสูงสุด ในเวลาภายหลังการปลูก 16-17 สัปดาห์ จึงต้องดูแลระบบนี้โดยการเอาผักตบชวาออกทุก 10 สัปดาห์ ประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียของบึงมักกะสัน พบว่าสามารถลดค่า BOD ได้ระหว่าง 19-85% โดยเฉลี่ยได้ 51% มีประสิทธิภาพในการฟอกตัวด้านการ กำจัด Total Coliform แบคทีเรีย และ FeCA Coliform แบคทีเรียเฉลี่ย 90% และ 89% ตามลำดับ
ที่ตั้งของโครงการ : เขตห้วยขวาง จังหวัดกรุงเทพมหานคร
วัตถุประสงค์ :
การดำเนินงาน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำบ่อดินขนาดความลึก 0.5 – 2 เมตร ใส่ผักตบชวาเป็นตัวดูดซับสารอาหารและโลหะหนัก โดยมีการเปลี่ยนผักตบชวาทุก 10 สัปดาห์ สามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 30,000-100,000 ลูกบาศก์เมตร และต่อมามีการเสริมเครื่องเติมอากาศแบบทุ่นลอยร่วมบำบัดด้วย ทำให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้ วันละ 260.000 ลูกบาศก์เมตร
การพัฒนาและปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสัน จากการที่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อสร้างทางด่วนมหานครขั้น 2 ระยะที่ 1 โดยมีแนวผ่านบึงมักกะสันและมีตอม่อโครงสร้างอยู่กลางบึง ทำให้น้ำในบึง ไม่ถูกแสงแดด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้เครื่องพ่นอากาศเข้าช่วย มูลนิธิชัยพัฒนาและกรุงเทพมหานครจึงรับสนองพระราชดำริ ในการปรับปรุงบึงมักกะสัน เพื่อให้สามารถฟอก น้ำในคลองสามเสนให้สะอาดขึ้น วันละ 260,000 ลูกบาศก์เมตร ด้วยการใช้เครื่องเติมอากาศแบบทุ่นลอย ผสมกับ การใช้ผักตบชวา ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้เพิ่มจากเดิม10 เท่า โดยมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้จัดหา และติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ขนาด 11 KW จำนวน 10 เครื่องและกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการขุดลอกบึงพร้อมทั้งติดตั้ง เครื่องสูบน้ำและปลูกผักตบชวา
สำหรับน้ำที่ใสสะอาดขึ้นนี้ให้ระบายออกสู่คลองธรรมชาติตามเดิม แล้วรับน้ำเสียจำนวนใหม่มาดำเนินการผ่านกรรมวิธีเป็นวงจร เช่นนี้ตลอดไปในอนาคตเมื่อการกำจัดน้ำเน่าเสียด้วยผักตบชวาในบึงมักกะสันแห่งนี้ ได้ผลดี ก็จะได้นำไป ใช้เป็น แบบอย่างในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียที่แหล่งน้ำ หรือลำคลองอื่นต่อไปซึ่งในขณะนี้กรุงเทพมหานครและการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ประโยชน์ และดูแลรักษาบึงแห่งนี้ให้คงมีสภาพที่ดีสืบไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบเทียบว่า "บึงมักกะสัน" เป็นเสมือนดั่ง "ไตธรรมชาติ" ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน นอกจากนี้ ยังมีผลพลอยได้หลายอย่างเช่น ปุ๋ย เชื้อเพลิง เยื่อสานจากผักตบชวาและการปลูกพืชน้ำอื่นๆ เช่น ผักบุ้ง เป็นต้น รวมทั้งการเลี้ยงปลาด้วย โดยมิได้มีพระราชประสงค์จะทำให้เป็น สวนสาธารณะแต่อย่างใด บึงมักกะสันจึงเป็นบึงที่สร้างภาวะแวดล้อมด้วยวิธีธรรมชาติ เรียบง่าย ประหยัด และที่สำคัญเป็น แหล่งค้นคว้าทดลองที่พระราชทานเพื่อปวงประชา จักได้มีสุขถ้วนทั่วหน้ากัน การพัฒนาบึงมักกะสันจึงนับเป็นความสำเร็จที่เกิดจาก พระปรีชาสามารถในเชิงวิชาการด้านนิเวศวิทยาและการแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษทางน้ำ ด้วย สายพระเนตรที่ยาวไกล จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง แก่ชาวไทยทั้งมวล
ประโยชน์ของโครงการ
บำบัดน้ำเสียรวมทั้งได้ผักตบชวาสำหรับทำปุ๋ยหมักหรือเชื้อเพลิงและอาหารสัตว์ตามเหมาะสม รวมทั้งเป็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชองประประชาชนในพื้นที่รอบบริเวณบึงมักกะสัน ให้ดีขึ้นอีกด้วย
อ้างอิง :
16 ส.ค. 2565
30 ส.ค. 2565
2 ส.ค. 2565
19 ก.ค. 2565