โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ : Pasakjolasid Dam

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  18545 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ : Pasakjolasid Dam

    “เขื่อนป่าสัก ที่ตอนแรกวางแผนให้จุได้ 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่แก้ไปแก้มาก็เหลือ 750 ล้านกว่าๆ ตามตัวเลขที่ให้ไว้นี้ แม้เขื่อนป่าสักเขื่อนเดียว ก็พอ พอสำหรับการบริโภคแน่นอนไม่แห้ง”

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2532 ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำในลุ่มน้ำป่าสัก เป็นผลเนื่องมายังเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่นำความเดือดร้อนมาให้ราษฎรเกือบทุกปี

    ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานว่าหากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปัจจุบันก็สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนได้จะต้องก่อสร้างเขื่อน 2 แห่ง ที่แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำนครนายก คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2537 โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ระหว่าง พ.ศ.2537 - 2542 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้เริ่มเก็บกักน้ำครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2541

สภาพทั่วไป

    ลุ่มน้ำป่าสักตั้งอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ และมีพื้นที่บางส่วนตอนบนของลุ่มน้ำอยู่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ลักษณะลุ่มน้ำวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่ลุ่มน้ำทั้งสิ้น 16,292 ตารางกิโลเมตร

    บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำมีเทือกเขาเพชรบูรณ์ล้อมรอบ พื้นที่โดยทั่ว ๆ ไป มีลักษณะเป็นเนินเขาและมีที่ราบเพียงเล็กน้อย ส่วนตอนกลางในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรีเป็นที่ราบสลับกับเนินเขา ตอนล่างของลุ่มน้ำบริเวณจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะโดยรวมทั้งลุ่มน้ำจะถูกล้อมรอบด้วยภูเขาทั้ง 2 ด้าน และมีแม่น้ำป่าสักไหลอยู่ตรงกลางจากทิศเหนือลงทิศใต้ โดยมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ในเขตอำเภอด่านซ้าย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเลย จากนั้นไหลผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี และสระบุรี จนมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา

  

    ลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำป่าสัก จะมีลักษณะเป็นลำน้ำสายสั้น ๆ แยกมาจากทางตะวันตกและตะวันออก ลำน้ำสาขาทางต้นน้ำ ได้แก่
   ห้วยน้ำพุง มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ทางตอนใต้สุดจังหวัดเลย ไหลขนานมากับแม่น้ำป่าสักและมาบรรจบกันที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
   ห้วยขอนแก่น มีต้นกำเนิดที่เทือกเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหล่มสัก
   ลำกง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือในเขตอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์
   ลำน้ำสาขาทางตอนล่างของลุ่มน้ำ ได้แก่
       - ห้วยเกาะแก้ว มีต้นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาเตี้ยๆ บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์กับจังหวัดลพบุรี ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักทางตอนใต้ของอำเภอศรีเทพ
       - ลำสนรี เป็นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำป่าสัก มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์กับจังหวัดชัยภูมิ มีลำน้ำสาขา คือ ลำพยากลาง ลำสนรีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
       - ห้วยมวกเหล็ก มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดลพบุรีกับจังหวัดนครราชสีมา ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

    เนื่องจากลักษณะลุ่มน้ำแห่งนี้มีความลาดชันสูง จึงทำให้ในฤดูฝน กระแสน้ำจะไหลจากด้านบนลงมาอย่างรวดเร็ว บ่าล้นตลิ่ง ท่วมและทำความเสียหายให้กับเรือกสวนไร่นา ตลอดจนบ้านเรือนและทรัพย์สินของราษฎร ปัญหาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำป่าสักส่งผลกระทบถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ในทางกลับกันในฤดูแล้งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค ซึ่งแม้จะได้รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาช่วยเสริมแต่ก็ยังไม่เพียงพอ การพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ได้เริ่มมาตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อนพระราม 6 เมื่อปี พ.ศ.2458 แต่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในระดับหนึ่ง ในขณะที่ประเทศเวลานั้น ยังมีการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมไม่มากนัก แต่เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการขยายพื้นที่เกษตรกรรมและการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เป็นผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำ แม้รัฐบาลในยุคสมัยต่อมา จะได้ศึกษาวางแผนที่จะพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กกระจายโดยทั่วไปในลุ่มน้ำป่าสักอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องบนลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของลุ่มน้ำป่าสักที่มีความยาวไม่มากและมีพื้นที่เก็บน้ำน้อย โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 ซึ่งหากสามารถก่อสร้างได้ครบตามแผนที่กำหนดไว้ จะสามารถเก็บกักน้ำได้รวมกันกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร

    ความแห้งแล้งเพราะขาดแคลนน้ำ และการเกิดอุทกภัยที่เกิดขึ้นเกือบจะเป็นประจำทุกปี ในตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ กระทบกระเทือนฐานะความมั่นคงทางเศรษฐกิจในพื้นที่ส่วนนี้ที่ประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณด้วยทรงห่วงใยยิ่ง ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2532 ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่อจากนั้นได้มีพระราชดำรัสอีกรวม 2 ครั้ง ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2536 และวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2537 สรุปความว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาอุทกภัย จะได้รับการบรรเทาให้น้อยลง เมื่อได้ก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก

    กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ฯ เห็นสมควรให้สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก ที่บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และที่บ้านคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี และผลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2537 และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เปิดโครงการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2537

    เขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสักได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2542 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปี มีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้าง โดยได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังพล และเครื่องจักรเครื่องมือจากกรมทหารช่าง กองทัพบก เป็นผลทำให้การก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ดำเนินการได้ตามแผนและบรรลุผลเป้าหมายที่กำหนด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2541 ซึ่งในโอกาสนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานทรงประกอบพิธี เริ่มการเก็บกักน้ำเป็นปฐมฤกษ์ และในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ " อันหมายถึง " เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

    โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ประเภทอ่างเก็บน้ำที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง และบรรเทาอุทกภัย ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำสำหรับการประมง และการอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดลพบุรี สระบุรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ระยะเวลาดำเนินการ 14 ปี (ปี พ.ศ.2538 – 2551) รวมระบบส่งน้ำ

 

ประโยชน์ของโครงการ

1. เป็นแหล่งสำหรับอุปโภค-บริโภคของชุมชนต่างๆ ในเขตจังหวัดลพบุรี (อำเภอลำนารายณ์ และอำเภอพัฒนานิคม) และจังหวัดสระบุรี (อำเภอวังม่วง และอำเภอแก่งคอย ) และชุมชนขนาดย่อมใกล้เคียง

2. เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร สำหรับพื้นที่ชลประทานที่จะเกิดขึ้นใหม่ ในเขตจังหวัดลพบุรี และสระบุรี 174,500 ไร่ ได้แก่ แก่งคอย – บ้านหมอ 86,700 ไร่ พัฒนานิคม 29,300 ไร่ พัฒนานิคม-แก่งคอย 28,500 ไร่ จัดหาน้ำเพื่อการเกษตร จังหวัดลพบุรี   30,000 ไร่

3. เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับพื้นที่ชลประทานเดิมในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง  เนื้อที่ประมาณ 2,200,000 ไร่ (ลดการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยนำน้ำจากแม่น้ำป่าสักไปใช้ในแถบจังหวัดลพบุรีและสระบุรีโดยตรง)

4. ช่วยป้องกันอุทกภัยพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก  ในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี  และยังมีผลช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา  รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

5. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี

6. อ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้นจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่

7. ช่วยการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำป่าสักตอนล่าง  

8. ช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียในลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนล่าง

9. เป็นแหล่งน้ำเสริมเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค - บริโภค ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

10. เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญ

 

ผลการดำเนินงาน

  • วันที่  2  ธันวาคม พ.ศ.2537 กรมชลประทานได้เริ่มงานก่อสร้างโครงการ  โดยก่อสร้างเขื่อนหัวงาน และ อาคารประกอบแล้วเสร็จ
  • 15  มิถุนายน พ.ศ.2541 เริ่มเก็บน้ำกักน้ำ
  • 25  พฤศจิกายน พ.ศ.2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเสด็จไปทำพิธีเปิดเขื่อนฯ
      

  
    โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย  เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคน้ำเพื่อการเกษตร โดยสามารถส่งน้ำช่วยพื้นที่การเกษตรฤดูฝน  2,200,00 ไร่  พร้อมทั้งสามารถส่งน้ำพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่อีก 174,500 ไร่   เพิ่มผลผลิตข้าวนาปรังเฉลี่ยได้ถึง 80- 90 ถัง/ไร่ และช่วยการขาดแลนน้ำ  รวมถึงการส่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม  ตลอดจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา  และเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่   เป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการประเมินผลเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่สำนักงาน กปร. ได้มอบหมายให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  ดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน  2548  พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางระบบนิเวศของน้ำ  กล่าวคือหลังจากการสร้างเขื่อนก่อให้เกิดชนิดของแพลงตอนเพิ่มขึ้น จากเดิม 15 ชนิด เป็น 51 ชนิด พบชนิดพันธุ์ปลามากขึ้นกว่าเดิมถึง 100 ชนิด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนมีรายได้สุทธิจากการประกอบอาชีพในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร  เช่น  การทำประมง  การแปรรูป  การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 22,465  บาท/ครัวเรือน/ปี   เป็น 44,504 บาท/ครัวเรือน/ปี
  

อ้างอิง :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้