โครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น : Check Dam

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  48491 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น : Check Dam

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบดีว่าประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตรและอาศัยน้ำฝน จึงทรงเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำเป็นพิเศษและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่างๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าไปศึกษาและนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้โดยที่มีการอนุรักษ์ ต้นน้ำลำธารและพัฒนาป่าไปพร้อมๆ กัน สุดท้ายความชุ่มชื้นจะเกิดขึ้นและจะบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ในที่สุด โดยพระราชทานพระราชดำริให้มีการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ 

    Check Dam คือ สิ่งที่ก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้พืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง นับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชดำรัสว่า “การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้นจะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย”

    ในส่วนของรูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า  "...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กๆเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วนโดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขี้ยวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ..." 

    ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังพระราชดำรัส คือ

   Check Dam ชนิดที่หนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้น รักษาความชุ่มชื้น
   Check Dam อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่

 

    จึงอาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้น ประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองนั้น เป็นฝายดักตะกอนนั่นเอง

 

    

รูป : ฝายต้นน้ำลำธาร หรือฝายชะลอความชุ่มชื้น

 

    

รูป : ฝายดักตะกอน

    การสร้าง Check Dam พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า

    "...สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึก เพราะทรายลงมากจะกักเก็บไว้ ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ได้ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไร ไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป..."

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ

    "...ให้ดำเนินการสำรวจหาทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูง ที่ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นจะต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ปริมาณมากพอสมควรเป็นเวลานาน 2 เดือน ...การเก็บรักษาน้ำสำรองได้นานหลังจากฤดูฝนผ่านไปแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยง และประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรงจะโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบ ๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้..."

 

รูปแบบของฝายสามารถแบ่งออกได้ ๓ แบบ

1. แบบท้องถิ่นเบื้องต้น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ฝายแม้ว” เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุมีอยู่ตามธรรมชาติที่ เช่น กิ่งไม้ ท่อนไม้ ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วย หรือร่องน้ำ โดยจะสามารถดักตะกอน ชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บริเวณพื้นที่รอบๆ ฝายได้

2. แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร เป็นการก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ ก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วย หรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้บางส่วน

3. แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร ส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ ทำให้สามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างขึ้นอยู่กับขนาดของลำห้วย ซึ่งควรมีความกว้างไม่เกิน 4 เมตร
 

 
ประโยชน์ของฝายชะลอน้ำ

1. ฝายช่วยชะลอน้ำ ชะลอการไหลของน้ำ จากเดิมที่ฤดูน้ำหลากน้ำจะหลากลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว

2. ชะลอความแรงของน้ำหลาก ช่วยลดการกัดเซาะของตลิ่งลำน้ำ

3. ช่วยดักตะกอนแม่น้ำ กิ่งไม้ เศษไม้ ดิน โคลน ทราย ทำให้ลำน้ำหลังฝายตื้นเขินช้าลง เก็บกักน้ำ ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ในบริเวณฝายและพื้นที่เหนือฝาย

4. ใช้ทำการเกษตรบริเวณใกล้เคียงได้ตลอดทั้งปี เช่น ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำสวน

5. เป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำ

6. เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน ในพื้นที่ฝาย เช่น ปลา สาหร่ายน้ำจืด(เตา)

7. สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน เช่น เก็บสาหร่ายน้ำจืด(เตา)ไปขาย

8. เก็บความชุ่มชื้น เพิ่มปริมาณ น้ำใต้ดิน เป็นประโยชน์ ในการทำประปาหมู่บ้าน

9. ใช้สัญจรขนส่ง สินค้าทางการเกษตร ข้ามลำน้ำ ร่นระยะทางการขนส่งได้

10. เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อน หย่อนใจ ของชาวบ้าน เช่น เด็กเล่นน้ำคลายร้อน สถานที่ออก กำลังกาย

11. เป็นสถานที่จัดงานประเพณีต่างๆ เช่น งานประเพณีลอยกระทง การแข่งเรือประเพณี
   

 

อ้างอิง :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้