Last updated: 20 ธ.ค. 2564 | 8524 จำนวนผู้เข้าชม |
คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อคลองเดิม บริเวณตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมมีลักษณะตื้นเขิน ต่อมาได้จัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "เบี่ยงน้ำ" ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงาน คือ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการ คือ จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกระเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร นั้นทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความกว้าง 10-15 เมตร และมีความยาวราว 600 เมตร แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อถูกพัฒนามากยิ่งขึ้น แนวคลองถูกถมเพื่อใช้ก่อสร้างที่พักอาศัย บ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม และถนน คลองจึงตื้นเขินเหลือความกว้างเพียง 1-2 เมตร พื้นที่บริเวณนี้จึงถูกน้ำท่วม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกคูคลองให้มีความลึก 7 เมตร และมีความกว้าง 80 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรก่อน ซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้ ปัจจุบันใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำเพียง 10 นาทีเท่านั้น สามารถระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้ถึง 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ลงทะเลอ่าวไทย อีกทั้งช่วยควบคุมระดับน้ำล้นตลิ่งในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการได้เป็นอย่างดี
คลองลัดโพธิ์ เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีกระแสพระราชดำรัสถึง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
แนวพระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริแก่นายรุ่งเรือง จุลชาต อธิบดีกรมชลประทาน พลตำรวจเอก จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ และนายจริย์ ตุลยานนท์ อดีตอธิบดีกรมชลประทานและกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการและดำเนินการปรับปรุงขุดลอก พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ซึ่งอยู่ในบริเวณคลองลัดโพธิ์ เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนถ่ายลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพ ต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการและภูมิภาคอื่น เพื่อไม่ให้รถบรรทุกวิ่งเข้าไปในตัวเมืองหรือทิศทางอื่น อันเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดโดยรอบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 จุด โดยด้านทิศเหนือเชื่อมกรุงเทพฯกับสมุทรปราการว่า “สะพานภูมิพล 1” ส่วนด้านทิศใต้เชื่อมพระประแดงกับตำบลสำโรงใต้ พระราชทานชื่อว่า “สะพานภูมิพล 2” เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2552
ต่อมาในปี พ.ศ.2549 ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานน้ำอันมหาศาลที่ระบายผ่านประตูระบายน้ำนี้ และความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 เป็นที่มาของการจัดสร้างกังหันพลังน้ำและมีพระราชดำริให้ศึกษาการใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองให้เกิดประโยชน์ กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกันประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และชุดสำเร็จของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ขึ้น รวมทั้งยื่นขอจดสิทธิบัตรงานทั้ง 2 ชิ้น ในพระปรมาภิไธย
ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคราวน้ำท่วมปี พ.ศ.2548 เมื่อ 4 ธันวาคม 2549 ถึงการบริหารจัดการน้ำของคลองลัดโพธิ์ว่า "สมเด็จพระบรมฯ กับสมเด็จพระเทพฯ ไป มันต้องมีเรื่องเวลาให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง"
“…ที่พระประแดง ที่มีอุปกรณ์ที่เวลาน้ำขึ้น กักเอาไว้ แล้วเวลาน้ำลง ปล่อยให้ลง คือ ที่คลอง คนแก่จำไม่ได้แล้ว และได้ทำโครงการที่จะปล่อยน้ำไปได้ เวลาน้ำลง แล้วก็เวลาน้ำขึ้นก็ปิดเอาไว้ ดังนั้น คลอง 600 เมตร ถ้าเปิด มันก็ทะลักเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าปิด น้ำจะอ้อมไป นี่วิธีที่จะบริหารน้ำให้ดี ก็คือ วิธีการให้ทราบว่าเวลาไหนน้ำกำลังขึ้น ปล่อยให้ออกไป พอไปทางคลองเตย กว่าจะถึงตรงปลาย น้ำก็ลง พอน้ำขึ้นเป็นเวลา แล้วเวลาลงเป็นเวลา แต่ว่าเวลาน้ำขึ้น เขียนเอาไว้ว่าขึ้นเวลานั้น ๆ สูง 2 เมตร 2 เมตรกว่า เวลาน้ำลง น้ำก็จะลง ลงไป ทำให้เป็นจังหวะ ถ้าไม่ได้จังหวะ เปิดประตูน้ำเวลาน้ำขึ้น มันก็ทะลักเข้ามา ก็เข้ามาอาจจะท่วมได้ น้ำอาจจะขึ้นไปสูงกว่า 2 เมตร น้ำมันขึ้น 2 เมตร 20 - 2 เมตร 30 แต่ว่าถ้าเราปิดในเวลานั้น น้ำก็ไม่ทะลักมาในถนนในกรุงเทพฯ เวลาน้ำลงก็ปล่อย หมายความว่า ต้องให้ตรง มันเป็นเวลา ถ้าทำเป็นเวลาแล้วน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้กรุงเทพฯ ก็ต้องท่วม แต่ว่าถ้าไม่ทำให้ถูกต้อง ถูกเวลา ถ้าฝนตกด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่น่าจะฝนตก แต่ว่ามีฝนตกน้ำท่วม ถ้าน้ำท่วมรถแล่นไปก็จมน้ำ
ฉะนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ไม่ได้ทำ แต่ตอนนี้เขาต้องทำ บอกเขา เขาทำให้ ปล่อยน้ำเวลาน้ำมันลง น้ำขึ้นก็กักเอาไว้ มีทุกอย่าง มีแห่งเดียวที่มีอุปกรณ์ ที่อื่นก็ควรจะทำ รอมาหลายปีแล้ว ควรจะทำได้ แต่ต้องลงทุนไม่ใช่น้อย ข้อสำคัญต้องลงแรง ตามคลองชายทะเลก็เคยมี เมื่อ 9 ปี เมื่อปี 38 ส่งองครักษ์ไปดู ไปดูส่วนมากเป็นตอนกลางคืน เห็นคนนอนหลับสบายที่ชายทะเล ปกติไปทางใต้เพราะว่า จะเปิดไหม เพราะว่าเขาไม่ได้บอกให้เปิดก็ไม่ปิด ปิดหรือเปล่า เขาไม่ได้บอกให้ปิด น้ำทะลักเข้ามาก็ท่วมในคลอง คลองก็มาท่วม จากชายทะเลแต่ถ้าทำถูกจังหวะน้ำไม่เกิด ตอนที่ทำทางฝ่ายรัฐบาลก็จะไม่รู้เรื่องว่าจะเป็นอย่างไร คนที่ชายทะเล ที่นอนสบายเขาบอก คุณมาจากไหน รู้ได้อย่างไร น้ำขึ้นจริง ๆ นะ เขานึกว่า ทำไมมาบอก รู้ว่าขึ้นทำไมไม่ปิด รู้ว่าลงไม่เปิด แล้วเขาถาม เป็นนายพล นายพลมาจากไหน มาจากในวัง ก็เลยเข้าใจว่ารู้เรื่อง ทำไมรู้เรื่อง เขาก็เชื่อ แต่ว่านายไม่เชื่อ นายผู้ใหญ่ต่าง ๆ เขาไม่ได้สั่งว่าเวลานั้นเวลานั้นต้องเปิดต้องปิด ที่ต้องเปิดต้องปิดเวลานี้ เพราะว่าน้ำไม่คอยใคร น้ำขึ้นน้ำลง ท่านเป็นทหารเรือก็รู้เรื่องว่าน้ำขึ้นลงเวลาไหน ต้องรู้ น้ำขึ้น น้ำลง แล้วช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ตัวเขานอนสบายแต่ว่าคนที่อยู่ข้างในทุกข์
ฉะนั้น เดี๋ยวนี้ยังมีเวลาที่จะแก้ไข ไม่อย่างนั้นถึงปีใหม่น้ำก็ท่วมอีก ก็เลยบอกว่าท่านที่มีหน้าที่ไปดู เราต้องไป เขาไม่เห็นแต่อย่างไรก็น่าจะไป 2 วัน 3 วันนี้ ก็จะไปดู เพราะว่ายังจำเป็นที่จะดู แต่ว่าเห็นเป็นอย่างนี้ อาจจะไปไม่ได้ ปวดหลัง ก็เลยไม่ได้ไป แต่ที่สมเด็จพระบรมฯ กับสมเด็จพระเทพฯ ไป มันต้องมีเรื่องเวลาให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง ทางกรมชลประทาน บอกว่า ปลายปีก็หมดแล้ว ปลายปีนี้ยังมีอีกเดือน แล้วฝนก็ยังไม่หมด ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะเชื่อว่า มันจะไม่ช้าเกินไป จวนจะหมดฤดูกาลแล้ว แต่ว่ามาพูดเพราะว่าที่ผ่านมาพูดไม่มีใครได้ยิน เสียงมันแหบ วันนี้เสียงนับว่าดี ได้แจ้งให้ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรสำหรับในน้ำท่วม…”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549
พ.ศ.2553 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา 16.30 น. นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยประทับเรือพระที่นั่งอังสนา ทั้งนี้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยมีการถ่ายทอดสดการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ตั้งแต่เวลา 17.30 น.
ผู้ได้รับประโยชน์ :
พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์ ที่ได้รับ 161.4 ล้านบาท/ปี และประโยชน์ทางอ้อมอื่นๆ ทั้งช่วยป้องกันน้ำท่วม ลดการสูญเสียทรัพย์สินและเวลา ในการเดินทาง ประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าสูบน้ำ ของระบบป้องกันน้ำท่วมเดิม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดินที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงลดภาระการบริหารงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเฉพาะหน้า ของภาครัฐได้อีกด้วย
ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :
ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกังหันพลังน้ำ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิ เบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสกับนายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2549 รับสั่งว่า โครงการคลองลัดโพธิ์จะทำประโยชน์ได้อย่างมหัศจรรย์มีพลังงานมหาศาล จะใช้เป็นพลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลอง ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วยหรือไม่
จากพระราชกระแสในครั้งนั้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 กรมชลประทาน จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านไฟฟ้าพลังน้ำ และออกแบบกังหันพลังน้ำต้นแบบผลิตกระแสไฟฟ้า ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำพลังงานน้ำที่ระบายผ่านประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้สำเร็จ โดยใช้หลักการพลังงานจล จากความเร็วของกระแสน้ำไหลมาปั่นกังหัน ซึ่งใช้หลักการเดียวกับกังหันลม และหลักการชลศาสตร์ จนออกแบบเป็นกังหันหมุนตามแนวแกน และกังหันแบบหมุนขวางการไหล จากการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้า ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตต์ เฉลี่ยแล้วใช้งบประมาณกิโลวัตต์ละ 2 แสนบาท เพราะมีอุปกรณ์บางส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่โครงการที่ 2 ที่ กรมชลประทาน และ มก.นำไปประยุกต์ใช้ คือประตูระบายน้ำบรมธาตุ จ.ชัยนาท โดยจะติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด 4 ชุด โดยใช้วัสดุภายในประเทศทั้งหมด ได้กำลังผลิตรวมกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลวัตต์ ลดต้นทุนเหลือกิโลวัตต์ละ 1 แสนบาท
อ้างอิง :
16 ส.ค. 2565
30 ส.ค. 2565
19 ก.ค. 2565
2 ส.ค. 2565