Last updated: 20 ธ.ค. 2564 | 12736 จำนวนผู้เข้าชม |
3. "ปริจจาคะ"
การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม เสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อประชาชนมีความสุข ในพระราชกรณียกิจที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น ในหลวงต้องเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ต้องทนลำบากในการเดินทาง อดทนต่อความแปรปรวนของอากาศ ความร้อนหนาว ก็เพื่อสร้างความสุขให้ประชาชนทั้งสิ้น
ปริจจาคะ - การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม
“กล่าวกันว่า พระราชอาณาจักรนั้นก็เหมือนกับพีระมิด คือ มีกษัตริย์อยู่ข้างบนประชาชนอยู่ข้างล่าง แต่ในประเทศนี้กลับตรงกันข้าม ก็เลยทำให้บางทีรู้สึกปวดแถวๆ นี้”
[ทรงชี้ที่พระศอ(คอ) และพระอังสา(ไหล่) พร้อมกับแย้มพระสรวล]
พระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนชาวเขา ณ ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่
ปริจจาคะ หมายถึง ความเสียสละไม่ว่าจะเป็นเสียสละวัตถุหรือความสุขต่าง ๆของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ดีและมีประโยชน์ยิ่งกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญธรรมข้อนี้ได้อย่างสมบูรณ์ พระองค์ทรงเสียสละทั้งพระวรกาย พระสติปัญญา ความสุขส่วนพระองค์ ด้วยทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขแห่งพสกนิกรเป็นที่ตั้ง
ในช่วงปี พ.ศ.2500 - 2524 บ้านเมืองเกิดภัยคุกคาม มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายทหารและตำรวจตระเวนชายแดนกับคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ชนบท ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่พระองค์ก็ไม่ทรงหวั่นเกรงอันตรายใด ๆ ยังเสด็จฯไปสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยพระองค์เอง
นายเฉลิมศักดิ์ รามโกมุท อดีตตำรวจหลวงรักษาพระองค์อาวุโส เขียนไว้ใน เรื่องหลัง….จากวังหลวง ว่า
“ฝนตก ฟ้าร้อง พายุพัด แนวรบที่เต็มไปด้วยห่ากระสุน ก็มิทรงย่อท้อ สมัยประเทศไทยตกอยู่ในความคุกคามของสหายคอม ทหารหาญได้พลีชีพปกป้องอธิปไตยของชาติอยู่เป็นประจำ บ่อยครั้งที่ทรงเสด็จฯโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งบินวนเหนือยุทธภูมิที่เบื้องล่างกำลังยิงถล่มกันอย่างหนักหนาสาหัส โดยที่นักบินไม่อาจขัดพระราชประสงค์ได้ ทรงให้เฮลิคอปเตอร์ที่ประทับลงจอดรับทหารผู้บาดเจ็บกลับสู่แนวหลัง ทั้ง ๆ ที่กำลังมีการสาดกระสุนเข้าหากันอย่างหูดับตับไหม้”
นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระบรมราโชวาทเพื่อสั่งสอนอบรมรัฐบาลและข้าราชการให้ทำงานเพื่อประเทศชาติด้วยความเสียสละอย่างแท้จริง ดังพระบรมราโชวาทที่พระองค์พระราชทานแก่ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ ว่า
“…แต่ต้องจำไว้นะว่างานทุกอย่างนี้น่ะมีด้านหน้าด้านหลังเหมือนเหรียญบาท งานด้านหน้านั้น ที่ออกนอกหน้านั้นจะมีคนทำกันเยอะแยะ และมีคนแย่งกันทำ งานด้านหลังที่ไม่ปรากฏต่อสายตาของคนน่ะ ต้องเป็นคนที่เข้าใจงานและหน้าที่ของตัวจริง ๆ ถึงจะทำได้และต้องเสียสละด้วย เพราะงานด้านหลังจะเป็นงานปิดทองหลังพระ ถ้าทำให้ดีแล้วต้องไม่ให้เห็นปรากฏและต้องยอมรับว่าจะไม่ได้อะไรตอบแทนเสียเลย นอกจากความภูมิใจในการทำงานในหน้าที่ของตน จำไว้อีกอย่าง คือ งานของพระมหากษัตริย์ที่แท้ส่วนใหญ่เป็นงานด้านหลังนี้”
ข้อมูลจาก นิตยสาร Secret
21 ม.ค. 2564
19 ม.ค. 2564
18 ม.ค. 2564
17 ม.ค. 2564