ทศพิธราชธรรม ข้อ 2. "ศีล"

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  8571 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทศพิธราชธรรม ข้อ 2. "ศีล"

2. "ศีล"

    ความประพฤติดีงาม เป็นความดีงามของกาย วาจา ใจ ที่ประชาชนจะเห็นได้ในทุกพระราชจริยวัตรของในหลวงทั้งกาย วาจา และพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งยังหมายถึงศีลในการปกครอง อันได้แก่กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา ที่พระองค์ทรงออกผนวชเพื่อศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย ทั้งอุทิศพระราชกุศลพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย

 

ศีล - ความประพฤติดีงาม

    ที่ว่าทำบุญนั้นนะ ก็อยู่ในข้อที่เรียกว่า ทำทาน แล้วก็ที่ถูกทำบุญแล้วก็พยายามทำอะไรที่ดีที่ถูกต้อง ที่สวยที่งามที่สุจริต ที่ไม่ทำให้เดือดร้อนก็เป็นศีล แล้วก็เมื่อมีศีลแล้ว เราก็สามารถที่จะทำพิจารณาอะไร ก็เป็นการภาวนา การภาวนาทำไปทำมาก็เป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วก็ภาวนาอยู่ตลอดทุกวันติดต่อไป มันก็เกิดปัญญา พระท่านสรุปเสมอว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ก็คือการสรุปของมรรครวมกัน เราก็ได้อริยสัจที่ 4 เมื่อเราได้อริยสัจที่ 4 แล้ว เราก็จะได้อริยสัจที่ 3 เพราะว่าถ้ามีปัญญาแล้วก็หลุดพ้นหมายความว่า เข้าใจอันนี้แล้วก็ไปเข้าใจถึงขั้นสูง คืออริยสัจ 4 ก็ไม่ใช่เล่น”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสที่คณะชาวห้วยขวาง พญาไท เฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลและต้นเทียนพรรษา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2521

 

  ศีล คือ ข้อปฏิบัติขั้นต้นในทางพระพุทธศาสนาเพื่อควบคุมความประพฤติทั้งทางกายและทางวาจา ตั้งใจสังวรสำรวมรักษากายวาจาให้สุจริต สงบเรียบร้อยเป็นปกติปราศจากทุกข์โทษ เพื่อให้เกิดความปกติสุขแก่ตนเอง แก่ผู้อื่น และสังคมส่วนรวม

  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นต้นแบบของพุทธศาสนิกชนผู้ครองตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัด อันจะเห็นได้จากเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงพระผนวชเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2499 ตลอดระยะเวลา 15 วันที่พระองค์ทรงพระผนวชเป็นภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาพระองค์ทรงรักษาศีล 227 ข้ออย่างเคร่งครัดเมื่อพระองค์ลาพระผนวชกลับมาดำรงอยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์ ก็ทรงสมาทานรักษาศีล ประพฤติธรรมอยู่เป็นนิจ ทั้งยังทรงสนับสนุนให้พสกนิกรของพระองค์ประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกัน ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 มีใจความตอนหนึ่งว่า “…ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่น่าวิตกก็คือ ทุกวันนี้ความคิดอ่านและความประพฤติหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นความชั่วความผิด ได้กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมยอมรับแล้วพากันประพฤติปฏิบัติโดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน จนทำให้เกิดปัญหาและทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมนลงไป

    “ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นหน้าที่ของชาวพุทธจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังแต่ละท่าน แต่ละฝ่าย จะต้องยึดหลักการให้มั่นคงที่จะไม่ทำสิ่งใด ๆ ที่ชั่วที่เสื่อม ต้องกล้าและบากบั่นที่จะทำแต่สิ่งที่เป็นความดีเป็นความถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อให้ผลความประพฤติดีปฏิบัติชอบบังเกิดเพิ่มพูนขึ้นและค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมทรุด หากให้กลับฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ…”

    นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่มิได้นับถือศาสนาพุทธ พระองค์ก็ทรงสนับสนุนให้ศาสนิกชนเหล่านั้นปฏิบัติตามหลักศีลธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ ด้วยทรงตระหนักดีว่า คำสอนของทุกศาสนาย่อมมุ่งเน้นให้ศาสนิกชนของตนเป็นคนดี ละเว้นจากการประพฤติชั่วทั้งปวง

ข้อมูลจาก นิตยสาร Secret

 

 
 "...การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย

ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ขาดความยั้งคิดนำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์..."

จากหนังสือ ๑๐๘ พระบรมราโชวาท
คลิป : AMARIN TVHD

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้