โครงการชั่งหัวมัน

Last updated: 13 พ.ค. 2567  |  191687 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการชั่งหัวมัน

   ชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจ รวมไปถึงความหมายของชื่อโครงการ “ชั่งหัวมัน” ว่าหมายถึงอะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมต้องเปรียบการใช้ชีวิตให้เหมือน มันเทศ ด้วย ลองไปทำความรู้จักกับความหมายและประโยชน์ของ "โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ" ที่จะทำให้คุณเข้าใจแนวคิดของในหลวงอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เชื่อหรือไม่ว่า โครงการ ชั่งหัวมัน นั้นเกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ จากหัวมันเทศของประชาชน สู่การกลายเป็น โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริของในหลวง ด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกลของการจัดการพื้นที่ที่ไม่เกิดประโยชน์ ให้กลับมามีมูลค่ามหาศาล นับเป็นการทำการเกษตรที่เป็นตัวอย่างให้กับชาว อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

ประวัติความเป็นมา

    เมื่อ ปี พ.ศ.2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำ หนองเสือ ประมาณ 120 ไร่ และต่อมา ปี พ.ศ.2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่ โดยมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2552 เป็นต้นมา และพระราชทานพันธุ์มันเทศซึ่งออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้อง ทรงงานที่วังไกลกังวลให้นำมาปลูกไว้ที่นี่ พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” 

 

   

 

   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความคืบหน้าโครงการด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2552

 

 

 

"ชั่งหัวมัน" หมายถึง การชั่งน้ำหนักมันเทศ

   พื้นที่ที่ตั้งของโครงการนี้อยู่ที่ บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี คุณดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ได้กรุณาให้ข้อมูลถึงที่มาของโครงการชั่งหัวมันว่า "ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวาย วางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ พอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวล จึงพบว่ามันเทศที่วางบนตัวชั่งมีใบงอกออกมา จึงรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ"

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1.  เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ พืชพันธุ์ดีของอำเภอท่ายาง และของจังหวัดเพชรบุรี
  2.  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร
  3. เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแปลงหรือมาช่วยงานพระองค์

การดำเนินกิจกรรมภายในโครงการ ประกอบด้วย

  • การใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นพลังงานทดแทน
  • การผลิตพืชปลอดภัยจากสารพิษ
  • การสาธิตการปลูกสบู่ดำ
  • การปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ
  • แปลงศึกษาและส่งเสริมการผลิตชมพู่เพชรสายรุ้ง
  • แปลงศึกษาและส่งเสริมการผลิตหน่อไม้ฝรั่ง
  • การทำปุ๋ยหมัก
  • การปลูกไม้ผล พืชไร่ ประกอบด้วย แก้วมังกร กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก มะละกอ มะนาว ฟักทอง กล้วย อ้อย มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวห้าว ฯลฯ
  • การปลูกพืชผัก ประกอบด้วย มันเทศ กระเพรา โหระพา พริกพันธุ์ซูปเปอร์ฮอต มะเขือเทศราชินี กระเจี๊ยบเขียว วอเตอร์เครส มะระขี้นก ผักหวานบ้าน ฯลฯ

เป้าหมายของโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

   โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เป้าหมายต้องการให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยเลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ดีที่สุดเข้ามาปลูก แล้วให้ภาครัฐและชาวบ้านร่วมดูแลด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด คุณดิสธรฯ บอกว่า โครงการชั่งหัวมันเป็นการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยคาดว่าอนาคตจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนโดยทั่วไปได้เข้าชม

   ที่ตั้งของโครงการอยู่ที่ บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

  • พืชสวนครัว ได้แก่ มะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริก กะเพรา โหระพา มะนาวแป้น ผักชี
  • ผลไม้ ได้แก่ สับปะรดปัตตาเวีย แก้วมังกร มะละกอแขกดำ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง ชมพู่เพชรสายรุ้ง กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก
  • พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ อัอยโรงงาน มันเทศญี่ปุ่น มันเทศออสเตรเลีย มันต่อเผือก มันปีนัง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวเหนียวพันธุ์ชิวแม่จัน ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวหอม ข้าวจ้างพันธุ์ลีซอ ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวขาว ยางนา ยางพารา ชมพู่เพชร

ภาพแปลงปลูกพืชเกษตรที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี

 

 

   คุณนริศ สมประสงค์ เจ้าหน้าที่งานในพระองค์โครงการชั่งหัวมัน เสริมว่าแรกๆ ชาวบ้านก็พากันสงสัยมาก เริ่มตั้งแต่ชื่อโครงการชั่งหัวมันแล้ว ชาวบ้านตีความชื่อโครงการกันพอสมควร แรกๆ ก็ตีความออกไปทางการเมือง ว่าพระองค์ท่านเบื่อแล้ว ก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่อย่างนั้น

   เหตุผลจริงๆ คือ หัวมันบนตาชั่งยังขึ้นได้ แล้วที่แห้งแล้งขนาดไหน มันก็ต้องขึ้นได้ ข้อสงสัยต่อมารวมไปถึง ทำไมพระองค์ท่านมาซื้อที่ดินที่นี่ ซึ่งแห้งแล้งมาก จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก ผืนดินที่นี่มีแต่ยูคาลิปตัส ชาวบ้านก็ยังไม่รู้ว่า ในหลวงท่านมาซื้อที่ดินผืนนี้เอาไว้

   คุณนริศฯ บอกว่าเราทุกคนคงทราบ อะไรที่ยากลำบากพระองค์ท่านทรงโปรด พระองค์ท่านจะทำให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่า ทำได้เพื่อจะได้เป็นแม่บทในการที่จะทำ เหมือนเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านที่นี่ ผืนดินโครงการชั่งหัวมัน ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน 2 ตำบล ตำบลกลัดหลวง ตำบลเขากระปุก มาช่วยกัน เกษตรอำเภอก็เข้ามาช่วยจัดสรรพื้นที่ ท่านดิสธรฯ ก็เข้ามาร่วมวางแผน จะให้ชาวบ้านปลูกอะไร อยากจะให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันระหว่างชาวบ้าน ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่จะปลูกถวายให้พระองค์ท่าน

   โครงการชั่งหัวมัน อยากให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันระหว่างชาวบ้าน ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่จะปลูกถวายให้พระองค์ท่าน เพราะอยากให้พระองค์ท่านมีความสุข หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวไร่ ข้าวโพด มะพร้าว แก้วมังกร กะเพรา พริก มะนาว ถูกจัดสรรลงแปลงปลูกอย่างรวดเร็วเหมือนฝันราวกับเนรมิต

วันนี้ ผลผลิตที่สร้างรายได้ให้มากที่สุด คือ มะนาวพันธุ์พื้นเมือง

   ในหลวงท่านทรงมีพระราชดำริว่า ไม่ต้องการให้ใส่สารเคมี หรือถ้าจะใช้ก็ใช้น้อยที่สุด มะนาวของพระองค์ท่าน ผิวจะไม่ค่อยสวย เรียกว่าเป็น มะนาวลาย แต่ผิวบางน้ำเยอะ เป็นที่ต้องการของตลาด สนนราคาก็ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามกลไกตลาดแต่ละวันไม่เหมือนกัน

   พระองค์ท่าน ทรงให้ปรับปรุงระบบระบายน้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองเสือ เพื่อใช้ในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริอีกด้วย

 

ทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้า
 


   นอกจากแม่แบบด้านการเกษตรแล้ว ยังมีกังหันลมผลิตไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาลที่ใช้พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้า มีกำลังการผลิตขนาด 50 กิโลวัตต์ ปัจจุบันมีทั้งหมด 20 ต้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะดำเนินการเข้ามารับซื้อพลังงานสะอาดที่ได้นี้ต่อไป ไฟฟ้าพลังงานสะอาดไม่ได้ใช้หมุนเวียนในไร่ ผลิตได้เท่าไรจะเอาไปหักลบกับพลังงานที่ใช้ทุกเดือนจะมีเงินเหลือ การไฟฟ้าฯ ตีเช็คกลับคืนมา 3 - 4ครั้งแล้ว

 

 

   พื้นที่ทั้งหมดของโครงการชั่งหัวมัน 250 ไร่ วันนี้ถึงจะยังไม่ถูกพัฒนาเต็มทั้งหมดทุกจุด แต่ในภาพรวมโครงการกำลังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ อย่างเป็นรูปธรรม แค่เพียงไม่กี่เดือน "โครงการชั่งหัวมัน" ยังเขียวขจีได้ขนาดนี้ หากผ่านไปเป็นหลายๆ ปี พื้นที่ที่เคยแห้งแล้งทุรกันดารผืนนี้ คงจะกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกชั้นยอด ขึ้นชื่ออันดับหนึ่งเป็นแน่

   นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พสกนิกรชาวไทยที่ทำการเกษตรในผืนดินที่แห้งแล้ง จะได้มีศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรม ทั้งชาวบ้านบริเวณนี้ และเกษตรกรชาวไทย เพื่อศึกษาและนำไปดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ในผืนดินของตนเองต่อไป

ข้อคิดดีๆ จากโครงการช่างหัวมัน

"ใช้ชีวิตให้เหมือนดัง มันเทศ” นี้คือ สิ่งที่ได้จากโครงการ “ชั่งหัวมัน” มันเทศเป็นพืชท้องถิ่นที่ “อยู่ที่ไหนก็งอกได้” สามารถเติบโต และให้ผลผลิตได้ การใช้ชีวิตก็เช่นเดียวกัน “ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง ดำเนินชีวิตด้วยความสุขใจ ไม่ว่าจะทำอะไร ขยัน อดทน ไม่ยอมแพ้ อยู่ที่ไหน ก็สามารถเป็นที่พึ่งพาได้เสมอ”
 

   อ้างอิง :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้