Last updated: 20 ธ.ค. 2564 | 5194 จำนวนผู้เข้าชม |
“ ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ตามลำน้ำสาขาต่างๆของแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ตามที่ทรงวางโครงการในช่วงระยะแรก จำนวน 13 อ่าง เพื่อจัดหาน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกเดิมของราษฎรหมู่บ้านต่างๆ และพื้นที่ป่าละเมาะที่จะบุกเบิกเป็นที่ทำกิน เพื่อจัดสรรให้กับราษฎรเข้าทำกินต่อไป รวมพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ในฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำหรับหมู่บ้านต่างๆ ดังกล่าวตลอดปี นอกจากนั้นยังจะมีน้ำไว้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางด้านปศุสัตว์ การประมงการเกษตรและอุตสาหกรรม ใน พื้นที่พัฒนาการเกษตร ประมาณ 66,000 ไร่ ได้อีกด้วย ส่วนพื้นที่ต้นน้ำลำธารเหนืออ่างเก็บน้ำต่างๆ ขึ้นไป มีพื้นที่ประมาณ 104,000 ไร่ จะใช้เป็นพื้นที่พัฒนาป่าไม้ โดยปลูกไม้สามอย่าง คือ ไม้ฟืน ไม้ผล และไม้ใช้สอย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร ของอ่างเก็บน้ำต่างๆ ดังกล่าว การดำเนินงานตามโครงการฯ ในระยะแรกนี้ให้แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป ”
พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2527
พระราชดำริ (เพิ่มเติม)
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทรงเยี่ยมเยียนราษฎร บ้านห้วยม่วงฝั่งซ้าย บ้านห้วยปุ๊ ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริการพัฒนาของโครงการฯ ไว้ดังต่อไปนี้
“ การพัฒนาตามโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ” ควรพิจารณาแบ่งพื้นที่พัฒนา ออกเป็นแนวเขตดังต่อไปนี้
แนวที่ 1 ควรพิจารณากำหนดพื้นที่ตอนบน เป็นแนวต้นน้ำลำธารอย่างเคร่งครัด โดยให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กปิดกั้นลำห้วยสาขาของ ห้วยม่วง ห้วยสะแพด ห้วยยอน และลำห้วยต่างๆ ตามความเหมาะสม ในลักษณะเช่นเดียวกับ อ่างเก็บน้ำห้วยม่วงตอนบน และอ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ตอนบน ทั้งนี้เพื่อจัดหาน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของราษฎร ในเขตหมู่บ้านที่อยู่ตามแนวเชิงเขา ซึ่งได้แก่ บ้านห้วยม่วง บ้านห้วยปุ๊ บ้านห้วยส้ม และบ้านห้วยสะแพด เพื่อจัดหาน้ำสนับสนุนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณตอนล่างด้วย สำหรับพื้นที่ป่าต้นน้ำในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำตอนบนนี้ ต้องห้ามไม่ให้ราษฎรเข้าทำกิน อาจพิจารณาสร้างแนวถนนให้ชัดเจน บริเวณใดที่เป็นป่าเสื่อมโทรมให้กรมป่าไม้พิจารณาเร่งรัดการปลูกป่า เช่น บริเวณพื้นที่ขอบอ่างหรือตามแนวทางท่อส่งน้ำ เป็นต้น และให้พิจารณาวางโครงการยกระดับน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนบน สนับสนุนการส่งน้ำในพื้นที่ตามไหล่เขาช่วยการปลูกป่าที่อยู่เหนือระดับส่งน้ำด้วย
แนวที่ 2 ควรพิจารณากำหนดพื้นที่ตอนกลางบริเวณตามแนวเชิงเขา ซึ่งมีหมู่บ้านห้วยม่วงฝั่งซ้าย บ้านห้วยปุ๊ บ้านห้วยส้ม และห้วยสะแพด ตั้งอยู่เป็นแนวเขตพื้นที่ที่จะต้องพัฒนาราษฎร ยกระดับความเป็นอยู่ของหมู่บ้านต่างๆ เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวเขตป้องกันการบุกรุกป่า ต้นน้ำลำธารจากบุคคลภายนอกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนและทำกินอยู่บริเวณพื้นที่ตามแนวเชิงเขา มีข้อจำกัดทั้งด้านพื้นที่ทำกินและความแห้งแล้ง การเพาะปลูกประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมาโดยตลอด นอกจากนั้นยังได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ระบบโครงสร้างทางสังคมของชุมชนดังกล่าว เป็นโครงสร้างของสังคมแบบดั้งเดิม มีลักษณะเป็นชุมชนที่มีความใกล้ชิด มีการช่วยเหลือจุนเจือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี มีรากฐานของการจัดการสังคมสงเคราะห์ของตนเองที่เห็นได้ชัด เช่น การแบ่งปันข้าวให้กับผู้ขาดแคลนบริโภคในรูปแบบของธนาคารข้าวพื้นบ้าน นอกจากนั้นยังมีการแบ่งปันรายได้จากการขายวัว เมื่อมีปัญหาการขาดแคลนข้าวเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นรากฐานการจัดระบบธนาคารโคพื้นบ้านด้วยเช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาในหมู่บ้านดังกล่าว จึงควรกระทำด้วยความระมัดระวัง ให้พยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมให้คงไว้ให้มากที่สุด ถึงแม้ว่าสภาพการทำมาหากินในปัจจุบันบางฤดู ราษฎรจำเป็นต้องไปประกอบอาชีพรับจ้างนอกหมู่บ้าน แต่เมื่อมีการพัฒนาทางด้านแหล่งน้ำและพื้นที่ทำกินแล้วก็จะเป็นส่วนทำให้ราษฎรมีงานทำในท้องถิ่นมากขึ้น ถึงกระนั้นก็ตามหน่วยงานทางราชการ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานอื่นๆ ควรพิจารณาว่าจ้างแรงงานให้ราษฎรได้มีรายได้ ภายในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และต้องพยายามทำทุกอย่างให้ราษฎรรักและ หวงแหนพื้นที่และรักษาป่าไม้
สำหรับลำห้วยปุ๊และลำห้วยม่วง ที่บริเวณบ้านห้วยปุ๊และห้วยม่วงให้กรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำขนาดเล็กสำหรับหาน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของหมู่บ้านทั้งสอง เพื่อการทำนาในฤดูฝน ส่วนพื้นที่ทำกินยังพอมีพื้นที่ที่เหมาะสมอยู่บ้าง ควรค่อยๆ พิจารณาขยายให้พอเพียงในแต่ละชุมชนที่มีความพร้อม โดยให้กรมชลประทานและกรมพัฒนาที่ดินร่วมกันพิจารณาสำรวจและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน วางระบบการส่งน้ำในพื้นที่ไร่นาแบบง่ายๆ ให้ราษฎรมีส่วนร่วมด้านแรงงานด้วย และให้พิจารณาวางโครงการสร้างบ่อน้ำเล็กๆ ใกล้แปลงเพาะปลูกไว้ให้วัว ส่วนในเรื่องที่ราษฎรขอพระราชทานวัวพันธุ์ดีนั้น ให้ทางจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาศึกษาสภาพพื้นที่ ทั้งในเรื่องของการจัดหาแหล่งหญ้า และการขยายพันธุ์วัวให้แก่ราษฎรต่อไป
แนวที่ 3 เป็นพื้นที่ตอนล่าง มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากระบบชลประทานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ในความดูแลของทางราชการ ก็ควรค่อยๆ ดำเนินการพัฒนาไปตามความเหมาะสม สำหรับแนวทางการจัดสรรที่ดินทำกินควรพิจารณาจัดสรรที่ดินเป็นลักษณะสัมปทานรูปแบบพิเศษให้เช่าพื้นที่ทำกินแบบคล้ายการดำเนินงานในรูปนิคม โดยมอบหมายให้จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนและกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกันรับผิดชอบ ”
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริแก่เลขาธิการสำนักงาน กปร. และอธิบดีกรมชลประทาน เกี่ยวกับงานชลประทาน ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ดังนี้
“ ควรพิจารณานำแนวทางการจัดหาน้ำตามรูปแบบโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณวัดมงคลชัย อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี มาใช้กับพื้นที่บริเวณโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่บริเวณที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวน 10 ไร่ ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยให้เป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษานำมาปรับปรุงพื้นที่ให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์
เมื่อการพิจารณาข้อมูลจากการตรวจสภาพพื้นที่ และรายละเอียดจากแผนที่ มาตราส่วน 1:100,000 พื้นที่บริเวณบ้านห้วยมะควัด และหมู่บ้านป่าไม้ เหนืออ่างเก็บน้ำหนองกระทิง ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง มีสภาพภูมิประเทศ เป็นเนินเล็กๆ สภาพดินลูกรังปนกรวด หน้าดินถูกกัดเซาะ มีอินทรียวัตถุน้อย ปัจจุบันไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวได้ แนวทางการพัฒนาตามรูปแบบโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน โดยขุดลอกร่องหุบระหว่างลูกเนินให้ลึกและกว้าง แล้วนำดินที่ขุดไปปิดกั้นระหว่างลูกเนินให้สามารถเก็บกักน้ำได้เป็นช่วง ๆ ลงไปสู่ที่ต่ำกระจายไปตามความเหมาะสม สำหรับพื้นที่ที่จัดเป็นแปลงที่ทำกินและไม่มีร่องหุบ ควรพิจารณาขุดสระเพื่อเก็บน้ำในบริเวณที่ที่มีพื้นที่รับน้ำไหลลงสระ ส่วนพื้นที่บริเวณยอดเนินซึ่งยากแก่การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ควรใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่า เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและชะลอกระแสน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ลาดชันมากควรปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการกัดเซาะพังทลายของดิน และควรมีการปรับปรุงควบคู่ไปด้วย ”
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2548 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้พระราชทานพระราชดำริ ความว่า “ อ่างเก็บน้ำมีน้ำเหลือน้อย สภาพป่าต้นน้ำลำธารแห้งแล้งมากให้ช่วยทำการป้องกันรักษาป่า และพัฒนาป่าไม้ให้มากๆ เพื่อจะได้เป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นดี เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดไป ”
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการให้มีความอุดมสมบูรณ์
2. เพื่อแก้ไขปัญหาของราษฎร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในด้านแหล่งน้ำ และที่ดินทำกิน
3. เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่โครงการให้สูงขึ้น สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น
4. เพื่อใช้เป็นที่ขยายผลการพัฒนาโดยนำผลจากการศึกษาของศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เป้าหมายของโครงการ
- ป้องกันดูแลรักษาป่ารอบพื้นที่โครงการฯ พื้นที่ 171,710 ไร่
- ดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ที่มีสภาพสมบูรณ์ เป็นจำนวนเนื้อที่ 107,000 ไร่
- ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้มีความอุดมสมบูรณ์ จำนวน 15,000 ไร่
- ฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ จำนวน 1,000 ไร่
- ราษฎรมีพื้นที่ทำกินในท้องถิ่นของตนเอง มีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและอุปโภค บริโภคได้ตลอดปี
- ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดจิตสำนึกและหวงแหนต่อทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตลอดไป
ผลการดำเนินงาน
1. แผนการอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้ โดย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 , สำนักงานป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูนป้องกันรักษาป่าที่มีสภาพสมบูรณ์อยู่แล้วให้คงสภาพเดิม ปรับปรุงและพัฒนาป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ โดยการจัดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวน พื้นที่ป่าในเขต พื้นที่โครงการฯ เพื่อป้องกันการบุกรุกแผ้วถางป่าตลอดจนปลูกเสริมป่าดูแลบำรุงรักษาสวนป่าเดิม และออกประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่เกี่ยวกับไฟป่า พร้อมทั้งติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ แจกเอกสาร เผยแพร่การควบคุมไฟป่า ให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียนตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้ราษฎร ในพื้นที่โครงการฯ ได้มีความรู้ ได้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธาร
2. แผนงานพัฒนาที่ดิน โดย สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 สร้างหมุดหลักฐานแผนที่โดยการสำรวจตำแหน่งด้วยดาวเทียม (GPS) ระบบ U.T.M. จำนวน 12 คู่ ครบคลุมพื้นที่ 171,710 ไร่ จัดทำแผนที่วงรอบแปลงจัดรูปที่ดิน สำรวจจำแนกดิน สภาพการให้ที่ดินและวางแผนการใช้ที่ดิน เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม ของราษฎรและพื้นที่ป่าไม้ให้ถูกต้องชัดเจน
3. แผนงานการจัดสรรที่ดิน โดย หน่วยจัดที่ดินที่ 1,2,3 กรมที่ดินสำรวจรังวัดทำแผนที่ วงรอบแปลงจัดรูปที่ดิน แปลงปลูกสวนป่า และพื้นที่สาธารณประโยชน์อื่น ๆ โดยปรับแก้ไขเป็นระบบสากล (U.T.M.) รังวัดสอบสวนสิทธิการถือครองที่รังวัดปูผังการจัดที่ดินให้เป็นระบบสากล (U.T.M.) ขุดสระน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกร บุกเบิกพื้นที่เกษตรกรรมสร้างถนนสายหลักและสายซอยในพื้นที่เกษตรกรรม และวางท่อระบายน้ำตามถนนเข้าพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ เพื่อให้ราษฎรได้รับความสะดวกสบายในการขนผลผลิตทางการเกษตร
4. แผนงานพัฒนาการเกษตร โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 ทดสอบและพัฒนาพืชเศรษฐกิจและระบบการปลูกพืชระบบการทำฟาร์ม ได้แก่
- ทดสอบพัฒนาข้าว พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับนาในที่ลุ่ม ได้แก่ ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวพันธุ์ กข. 6 ข้วพันธุ์ กข. 8 และข้าวไร่ใช้พันธุ์ ซิวแม่จัน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 300 กก. / ไร่
- ทดสอบและพัฒนาพืชไร่ พืชที่เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร ได้แก่ ถั่วเหลืองพันธุ์ สจ. 4 ได้ค่าผลผลิตเฉลี่ย 230 กิโลกรัม / ไร่
- ทดสอบและพัฒนาพืชสวน พืชสวนที่เกษตรสนใจมากที่สุดคือ สำไยพันธุ์ อีดอ มะม่วงแก้ว มะขามเปรี้ยว
- ทดสอบและพัฒนาพืชอุตสาหกรรม พืชที่มีศักยภาพปลูกในพื้นที่ ได้แก่ พริก มะเขือ กระทกรก หน่อไม้ฝรั่ง และยางพารา
- อบรมถ่ายทอดเทคโนโยลีการเกษตร ถ่ายทอดวิธีการปลูกถั่วพันธุ์ สจ. 4 ให้เกษตรกรจำนวน 10 ราย รวม 10 ไร่ขยายผลการปลูกข้าวไร่ซิวแม่จันให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 14 หมู่บ้าน รวม 50 ราย จำนวน 100 ไร่ ขยายผลการปลูกพืชสวน ในพื้นที่ 10 หมู่บ้าน 3 อำเภอ รวม 100 ไร่
5. แผนงานส่งเสริมการเกษตร โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่
- ดูแลปรับปรุงผลผลิตลำไยของเกษตร 3,000 ไร่
6. แผนงานด้านปศุสัตว์
- ดูแลสุขภาพสัตว์ ( ฉีดวัคซีนสัตว์, ถ่ายพยาธิสัตว์ เช่น สุกร วัว กระบือ และรักษาพยาบาลสัตว์ป่วย )
7. แผนงานพัฒนาด้านการประมง ผลิตพันธุ์น้ำปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ , แหล่งน้ำสาธารณะ จำนวน 1,600,000 ตัว และแจกจ่ายให้ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 202 ราย จำนวน 404,350 ตัว เพิ่มผลผลิตการประมงในแหล่งน้ำดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารแหล่งน้ำ จำนวน 2 แห่ง ฝึกอบรมคณะกรรมการบริหารแหล่งน้ำพร้อมสนับสนุนพันธุ์ปลา ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 50 ราย บ่อพลาสติก 30 ราย บ่อดิน 20 ราย พร้อมสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารปลา
8. แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำดำเนินการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภค – บริโภค เพื่อการเกษตรให้แก่ราษฎรในเขตพื้นที่โครงการตลอดจนการจัดหาน้ำเพื่อสนับสนุนการพัฒนาป่าบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อการพัฒนาป่าไม้ และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
9. แผนงานอำนวยการและบริหาร โดย กองพลพัฒนาที่ 3 ร่วมวางแผนและประสานงาน เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตาม วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแต่ละแผนงาน โดย จัดชุดปฏิบัติการร่วมดำเนินงานกับหน่วย จัดที่ดินโครงการฯ หน่วยที่1,2 และ 3 ในการรังวัดสอบสวนสิทะการถือครองที่ดินของเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ และจัดชุดปฏิบัติการร่วมดำเนินงานกับป่าไม้โครงการฯ ในการออกลาดตระเวนพื้นที่ป่าในโครงการฯ เพื่อลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. สามารถฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการให้มีความอุดมสมบูรณ์
2. รักษาพื้นที่ป่าไม้ของโครงการฯ เนื้อที่ประมาณ 107,000 ไร่ ไว้ได้
3. ราษฎรมีที่ดินทำกินและมีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี
4. ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ได้มีงานทำในท้องถิ่นของตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
5. นำผลการศึกษาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ มาขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
อ้างอิง :
19 ก.ค. 2565
16 ส.ค. 2565
30 ส.ค. 2565
2 ส.ค. 2565